บันทึกร่องรอยการเรียนรู้ปีที่ 4-5


          บันทึกร่องรอยการเรียนรู้ปีที่ 4-5

          สถานการณ์ในปีที่ผ่านมา
          กลับมาอัพเดทสถานการณ์ ความคืบหน้าของบ้านเรียนบุญญาภัส เผื่อน้องๆ ที่ติดตามจะได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ถึงจะไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นก็ต้องใกล้เคียงบ้าง มีใครส่งลูกกลับเข้าโรงเรียนไปแล้วบ้าง ยกมือขึ้นครับ ไม่น่ามีนะ

          เรียนเปียโนไปถึงไหนแล้ว?
          หลังจากการแข่งขันเปียโนในรายการ sugree2022 จุนเจือก็ยังไม่ได้ร่วมรายการแข่งขันใดๆ อีก มุ่งไปที่การฝึกซ้อมประจำวันเพื่อความก้าวหน้าทางเทคนิค และในระหว่างที่รอหลักสูตรใหม่ของครูที่ยังทำไม่เสร็จ จะไปเรียนกับครูที่กรุงเทพก็ยังไม่สะดวกในหลายๆ อย่าง ก็เลยลงทะเบียนเรียนเปียโนออนไลน์แบบมืออาชีพ Piano Career Academy หลักสูตรโรงเรียนเปียโนรัสเซีย ดำเนินการสอนโดยครูสอนเปียโนชาวมอลโดวา (เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ก่อนจะแยกเป็นหลายๆ ประเทศรวมถึงรัสเซียในปัจจุบัน) คำว่าโรงเรียนเปียโนรัสเซีย เป็นเหมือนองค์ความรู้เปียโนที่เคยรุ่งเรืองและสืบทอดกันมากว่า 150 ปีก่อนสหภาพโซเวียตล่มสลาย
          หนึ่งปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ขณะนี้ปี 2024 จุนเจือก็ยังคงเรียนเปียโนสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 2-4 ชั่วโมง ทักษะพื้นฐานพัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง มีสมาธิในการฝึกซ้อมมากขึ้น สามารถแกะเพลงง่ายๆ ได้อย่างรวดเร็ว อย่างเพลง Song from a secret garden สามารถแกะโน้ตจบใน 40 นาที (ซ้อมต่างหากนะ) Melody in A minor หรือ Waltz in A minor Chopin / Waltz no.2 หรือเพลงอื่นๆแนวเกาหลีก็ฝึกเล่นได้ภายในเวลาไม่นาน ใช้เทคนิคหลายอย่างได้ดีขึ้น ยังคงขาดบางอย่างแต่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ การใช้นิ้ว การใช้แขน ใช้ลำตัว Movement ต่างๆ ค่อยๆ ดีขึ้น

          เตรียมตัวสอบทฤษฎีดนตรีเกรด 5
สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากๆ คือการเตรียมตัวสอบทฤษฎี เกรด 5 เพราะถึงจะสอบปฏิบัติได้คะแนนสูง แต่ถ้ายังไม่ได้สอบทฤษฎี ก็จะไม่สามารถสอบเกรดที่สูงขึ้นไป เช่น 6-7-8 ได้ เราแบ่งเวลาการซ้อมในช่วงกลางวันมาเป็นการเรียนรู้ทฤษฎี โดยอิงจากหนังสือเรียนของระดับชั้นที่จะสอบ แต่แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของเราคือเรียนรู้เพื่อความเข้าใจอย่างแท้จริง มันคือสิ่งที่จะติดตัวนักดนตรีตลอดไป นั่งฟัง นั่งอ่าน นั่งแปล ท่องศัพท์ดนตรี ทำแบบฝึกหัดยาวๆ เช้าจรดเย็น ต้องขอบคุณหนังสือทฤษฎีดนตรีของอาจารย์ณัชชา พันธุ์เจริญเป็นอย่างสูง ที่มีแบบฝึกหัดไว้ให้คิดวิเคราะห์แบบจุใจจริงๆ คาดว่าจุนเจือน่าจะพร้อมสอบทฤษฎีภายในครึ่งแรกของปีนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า อ่านหนังสือเองเหรอ ทำไมไม่เรียนคอร์สออนไลน์ล่ะ? ตรงจุด ไม่ต้องเสียเวลามาก คือ..มันเหลือแค่เรื่องสองเรื่องที่ยังไม่ค่อยเข้าใจน่ะครับ ค่อยๆ คิด เดี๋ยวก็ได้แล้ว

          หลายอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่คิด
          มาทบทวนความคิดก่อนตัดสินใจทำโฮมสคูลให้กับลูกกันดูครับ กันลืม
          - ลูกไม่อยากไปโรงเรียน อันนี้น่าจะเป็นเหตุผลอันเบาบางมากๆ ถ้าจะพูดกันจริงๆ
ลึกๆ แล้วเราก็รู้ว่าเหตุผลข้อนี้มันช่างเป็นข้ออ้างที่ทำให้เราพาลูกออกมาจากระบบโรงเรียนได้แบบซอฟท์ที่สุดบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น เคยได้ยินคำนี้ไหมครับ? "เด็กจะไปรู้อะไร" ใช่ครับเด็กจะไปรู้อะไร แต่เราก็ยังมีเหตุผลอีกมากมายที่ไม่จำเป็นต้องบอกใครก็ได้
          - อยากเลี้ยงลูกเอง ใช้เวลาอยู่กับลูกตลอดเวลา วัยเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่บอกกับเราว่า ให้เวลากับลูกเยอะๆ
นี่ไงครับ เหตุผลที่มีน้ำหนักเยอะมากต่อการตัดสินใจของผู้ปกครอง โดยเฉพาะเมื่อเราผ่านการไปส่งลูกหลานวันแรกที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเกาะรั้วรอฟังเสียงร้องไห้ของเขามาแล้ว
          - อยากจัดการเรียนการสอนให้ลูกเอง กำหนดอนาคตให้กับลูกของเราเอง โลกเปลี่ยนไปแล้วเรียนที่ไหนก็ได้ เรียนอะไรเรียนให้ลึกให้รู้จริงไปเลย
          ไม่ใช่ทุกคนจะรู้ว่าเราสามารถจัดการเรียนการสอนให้กับลูกเองได้ ผ่านมาสี่ห้าปีก็ยังมีคนแวะเวียนมาทำหน้าสงสัยอยู่เสมอว่า "อ้าว..ทำแบบนี้ก็ได้เหรอคะ?" สำหรับครอบครัวเรา เราเชื่อว่าไม่มีใครรู้จักลูกดีเท่ากับตัวเรา ในเมื่อมีช่องทางที่จะดูแลส่งเสริมเขาในทางที่เป็นตัวเขามากที่สุด ทำไมถึงจะไม่เลือกช่องทางนั้นล่ะ สิ่งนี้พ่อก็สอนได้ สิ่งนั้นแม่ก็เก่งที่สุด สิ่งโน้นเราไม่ถนัดก็พาลูกไปเรียนพิเศษได้ หาครูมาสอนที่บ้านก็ยังได้ เรียนในสิ่งที่สนใจและอยากเรียน ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่ได้ใช้ ใช่..เอาเลยๆ คุ้นๆ กันบ้างไหมครับอารมณ์แบบนี้
          - ลูกมีความพิเศษบางอย่าง ต้องการส่งเสริมเป็นการเฉพาะทางอย่างจริงจัง หรือมีความผิดปกติบางอย่าง จุนเจือจัดอยู่ในกลุ่มนี้เป็นเหตุผลหลัก แต่ก็ดูจะไม่จริงใจเอามากๆ ถ้าจะไม่ยอมรับว่ามีทุกข้อที่กล่าวมาครับ


          อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดหวังเสมอไป มันจะมีตัวแปรใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้นของทั้งลูกและตัวของเราเอง ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายที่เริ่มโตมากขึ้น จิตใจที่เริ่มสนใจสิ่งอื่นๆ มากขึ้น ต้องการเวลาส่วนตัวมากขึ้น เช่น อยากมีเวลาเล่นเกมเยอะๆ ทุ่มเทเวลาไปกับบางสิ่งบางอย่างมาก ไป (ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่เราเตรียมการไว้ให้) จนลืมหลายอย่างที่สำคัญ ผมกำลังจะบอกว่า 
อย่าลืมพัฒนาด้านต่างๆ ไปพร้อมๆ กันนะ นี่คือเหตุผลที่ในระบบโรงเรียนเขาต้องจัดการเรียนการสอนให้ครอบคลุมทุกด้านแบบค่อยเป็นค่อยไป ในวิชาเดียวกันเรียนมันทุกชั้นเลย ไล่ระดับความยากขึ้นมาเรื่อยๆ ตามระดับอายุ ได้ทีละนิดละหน่อยแต่ได้หลายวิชาพร้อมๆ กัน ต่อยอดไปบ้างลืมไปแล้วบ้าง แต่รวมๆ แล้วดูมีเสน่ห์

          พัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ
          อย่าลืมพาลูกออกกำลังกาย ทำกิจกรรมนอกบ้านบ้าง ออกไปกลางแจ้งสูดอากาศ ฝึกเดินในที่กว้างๆ ที่จริงเรื่องนี้พื้นฐานมากๆ จนไม่คิดว่าจะมีใครต้องการคำแนะนำนี้ แต่..ละเลยไม่ได้เลยครับ ผมเห็นเด็กโฮมสคูลหลายๆ คนมีบุคลิกที่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง รวมถึงจุนเจือด้วย เวลาพบปะกันไม่รู้จะนั่งท่าไหน นั่งพิงพนักดีไหมหรือนั่งหลังตรง เอ๊ะดูเกร็งๆ ไปนะ มือไม้เอาไว้ตรงไหนดี ผมไม่ได้บอกว่าทุกคนนะครับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ได้อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย ไม่ได้เรียนวิชาลูกเสือ ยุวกาชาติ ไม่ได้เดินสวนสนาม ฝึกตั้งแถว จัดระเบียบร่างกาย ไม่มีเพื่อนๆ คอยหัวเราะคิกคักเวลาทำอะไรเปิ่นๆ ให้ได้เรียนรู้ว่า ความไม่เพอร์เฟ็คเป็นเรื่องขำๆ จงค่อยๆ เรียนรู้และสนุกไปกับมัน
          ผมรู้สึกว่าลูกโตขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นวัยรุ่นแล้วแต่ยังจัดระเบียบร่างกายได้ไม่ดีเท่าที่ควร ต้องแก้ไขเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ท่าทางการพูด การกิน นั่ง นอน ยืน เดิน ฯลฯ ความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเองแบบปล่อยไปตามธรรมชาติ อย่าปล่อยปละละเลยเด็ดขาดนะครับ วันหนึ่งถ้าเขาต้องไปอยู่ในสังคมก่อนที่เราจะมีโอกาสอนเขาและสอนเขาอีก ย้ำเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีก ปากเปียกปากแฉะ จนกลายเป็นนิสัย ผู้คนจะถามว่า นี่มันลูกใครกันวะเนี่ย? เลี้ยงลูกเอง..ไม่ง่ายครับ

          อีกอย่างหนึ่งที่ต้องเขียนไว้เป็นที่ระลึกอย่างลืมไม่ได้เลยคือ จุนเจือกลัวการเติบโต กลัวตัวเองโตเป็นสาวจนถึงขั้นต้องทำตัวแบบเด็กเล็กๆ ต้องหนีบตุ๊กตาเอาไว้กับตัวตลอดเวลาอีกครั้งเมื่ออายุ 11 ปี ในขณะที่เด็กรุ่นเดียวกันเขาเริ่มสนใจเพศตรงข้ามแล้ว พ่อกับแม่จะรอดูว่าลูกจะพยายามเป็นเด็กไปได้อีกนานเท่าไหร่กัน 

          ความเชื่อมั่น เชื่อใจในครอบครัว ความมั่นใจ ความภูมิใจในตัวเอง
เจือมีคำถามติดปากว่า "พ่อ หนูเป็นคนดีไหม?" วันละหลายๆ รอบ ถามว่าทำไมถามแบบนั้นล่ะ "หนูอยากมั่นใจว่าหนูเป็นคนดีจริงๆ" ฟังดูเหมือนถามเล่นๆ หรืออารมณ์อยากอ้อน หรือบางทีลูกอาจอยากได้ยินคำพูดดีๆ จากเราบ้าง 
          การต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลาเช้าจรดเย็นไม่เว้นเวลานอน และความที่ต้องพร่ำสอนทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้เรากลายเป็นบุคคลที่มีคำพูดแสลงหูสำหรับลูกไป จากความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด อาจกลายเป็นเรานั่นเองที่ทำลายความเชื่อมั่น ความภาคภูมิใจในตัวเองของเขาไป ผมต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า พูดน้อยลงนะพ่อ ระวังน้ำเสียงด้วยนะพ่อ ปล่อยให้ลูกคิดเองบ้าง ให้เขาได้ลองผิดลองถูกบ้างนะพ่อ แต่ก็นั่นแหละ บางอย่างเราก็ปล่อยให้แล้วแต่บุญกรรมไม่ได้ครับ สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้และมั่นใจว่าใช้ไม่ได้ผลกับการเลี้ยงเด็กก็คือ การติหนิ ดุด่า ประชดประชัน จากทุกๆ คนในครอบครัว ดังน้้น คิดไว้เสมอ เราไม่ชอบอะไรก็ไม่ต้องทำแบบนั้นกับลูกครับ

          อะไรที่มาก่อนเวลาก็ไม่ได้ดีเสมอไป 
          ในนามแห่งพ่อแม่ เราอดดีใจไม่ได้เวลาเห็นลูกน้อยๆ ของเราพูดได้เร็ว อ่านหนังสือออกตั้งแต่ยังไม่ได้ไปโรงเรียน อ่านและพูดภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่ยังเล็ก มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ หรือทางดนตรีมากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ถึงแม้ว่าเราจะพยายามทุกวิถีทางที่จะพัฒนาต่อยอดไม่ให้ความสามารถเหล่านั้นฝ่อไปตามการเวลา และก็อาจทำได้สำเร็จ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันก็มีปัญหาเล็กๆ ปนมากับสิ่งดีๆ นั้น
          จุนเจือโตมากับหนังสือนิทานสองภาษา นิทานเพลงสองภาษา พ่อกับแม่ผลัดกันอ่านนิทานก่อนนอนคืนละเป็นสิบๆ เล่ม (เพราะถ้าไม่อ่านให้หมดเจือจะไม่ยอมนอน) ทำให้อ่านหนังสือได้ตั้งแต่เล็กๆ ก่อนไปศูนย์เด็กเล็ก (แต่ขี้แยทำให้ครูไม่ทันสังเกตเห็น อย่างที่เคยเล่าไปแล้ว) ซึ่งมันไม่ใช่ลำดับพัฒนาการแบบปกติของเด็กส่วนใหญ่ในวัยเดียวกัน  คือ มันไม่มาพร้อมเพื่อนๆ พอจะต้องมานั่งสะกดคำออกเสียงพร้อมๆ กันหลายๆ คน แบบ กอ อา กา ก็กลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ และพออ่านออกแล้วทำให้ขี้เกียจฝึกเขียน ตอนนี้ก็ยังเขียนตัวหนังสือไม่ค่อยสวย น่าจะ..ไม่สวยตลอดไปนั่นแหละครับ 
          อ้อ..ภาษาอังกฤษด้วยนะครับ มีโอกาสเจอครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสอนพิเศษ ครูชอบชวนเจือ Speak English นอกห้อง แต่ยังไปเรียนรวมกับรุ่นพี่ไม่ได้เดี๋ยวจะพาพี่เขาจะเสียสมาธิ 
          ตอนแรกที่เริ่มเรียนเปียโน เป็นการเรียนแบบชั่วโมงละสามคน ครูเดินสลับห้อง ทำให้มีเวลาเจอครูจริงๆ ไม่เกินยี่สิบนาที ไม่ใช่เรียนไม่พอ แต่ครูตรวจการบ้านไม่ทัน อันที่จริงก็ไม่ใช่การบ้าน เป็นการฝึกเล่นมาก่อนที่จะไปหาครู เวลาครูสอนจะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งในมุมของครูสิ่งนี้อาจไม่ค่อยดีนัก เพราะการเรียนดนตรีเป็นสิ่งที่จะต้องใช้เวลา เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน แบบทีละนิดทีละหน่อย ค่อยๆซึมซับจนกลายเป็นนิสัยในการเล่นดนตรีที่ดี ไม่ขอลงลึกในเรื่องนี้มันจะยาวเกินไป เอาเป็นว่าการเล่นดนตรีไม่ใช่แค่เพียงเล่นโน้ตให้ถูกต้องเท่านั้นครับ 
ส่วนในมุมของพ่อ ที่พอรู้เรื่องดนตรี มีเครื่องเล่นที่บ้าน และมีเวลา จะรอให้ลูกซ้อมวันละสิบนาทีและเจอครูสัปดาห์ละยี่สิบนาทีมันก็...ช้าไปหน่อยครับ
          พอผ่านไปหลายปี ทักษะมีมากขึ้น มีโอกาสพบครูระดับแนวหน้า ที่พร้อมจะถ่ายทอดวิชาให้อย่างเต็มที่ "ที่บ้านครู" แต่..นักเรียนยังไม่พร้อม เจือยังไม่โตพอที่จะออกไปเรียนที่ไหนไกลๆ ต้องขึ้นรถลงเรือข้ามถนน ฯลฯ ขอเวลานอกฝึกเด็กให้โตขึ้นอีกนิดหน่อยนะครับครู เด็กโฮมสคูลที่เจอช่วงโควิดชีวิตเหมือนหยุดชะงัก ขอฝึกโตแป๊บ แล้วจะไปหาครูที่บ้านอย่างแน่นอนครับ  หลายคนสงสัยว่าทำไมล่ะ? ก็ขับรถไปส่งลูกสิ ก็คงไม่เป็นไรครับถ้ามันไม่ใช่ กรุงเทพ-อุตรดิตถ์ 
          แม้แต่การเรียนเปียโนออนไลน์กับครูฝรั่งก็ยังต้องรอให้ถึงกำหนดส่งงาน ส่งเร็วก็ไม่ได้ นักเรียนที่สอบเกรดห้าผ่านด้วยคะแนนเกือบเต็ม ต้องมาทยอยส่งการบ้านแบบเด็กเล็กไปเรื่อยๆ เป็นร้อยบทเรียน จนกว่าจะถึงงานในระดับที่แท้จริงของตัวเอง มันช่าง..."ต้องใจเย็นมากๆ เลยละสินะ" แต่ก็ถือว่าเป็นเวลาเติมเต็มทักษะขั้นพื้นฐานที่ข้ามๆ มาทั้งหลาย ฝึกนิสัยการเล่นที่ถูกต้องและดีขึ้นด้วยการแช่ ..
          "อะไรนะ เงินในบัญชีถูกหักไปอีกแล้วเหรอ? ฮูววววว...ซ่าาาาาา...."

          ใครที่ลูกมีพัฒนาการบางอย่างเร็วกว่าเพื่อนๆ อย่าเพิ่งดีใจไป หาทางหนีทีไล่ไว้ให้ดีครับ


          พ่อแม่ควรวางตัวยังไงเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น

          อย่าลืมนึกถึงชีวิตของตัวเอง
          ใครสักคนระหว่างพ่อกับแม่ ที่ต้องทำหน้าที่เป็นครูประจำตัว เกาะติดกับลูกทุกสถานการณ์ ไม่เว้นแม้แต่ตอนเข้าห้องน้ำ ต้องถามใจตัวเองว่า จากนี้จนอาจจะชั่วนิรันดร์ คุณอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คุณจะยังโอเคอยู่ไหม? ระดับความเปลี่ยนแปลงนี้มากกว่าที่ผมพูดถึงในปีที่แล้ว ตอนนี้คุณอายุเท่าไหร่ อีกสามปี หกปี สิบสองปี คุณจะอายุเท่าไหร่ คุณอาจจะต้องทิ้งความฝันของตัวเองไปเพราะเลยเวลาที่จะกลับไปทำมันได้อีกแล้ว
          ส่วนตัวผมเอง เมื่อลูกโตและดูแลตัวเองได้แล้ว อาชีพที่ผมจะทำคือ..คนแก่

          หลายคนคิดว่าการเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง สามารถทำคู่ไปกับการทำงานปกติ เหมือนการพาลูกไปที่ทำงานด้วย แต่โฮมสคูลนั้นไม่เหมือนกัน เพราะมันต้องใช้เวลากับการเรียนของลูกแบบทุกเม็ดจริงๆ และถึงแม้เราจะทุ่มเทเวลามากมาย ก็อาจไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนารอบด้านไปพร้อมๆ กัน อย่าใช้เวลากับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไปจนละเลยอย่างอื่นไปนะครับ


          แนะนำเรื่องการเรียนได้ไหม?

          "ต้องเรียนไปพร้อมกับลูก"
          ย้ำอีกทีว่าบริบทของแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน คงต้องแล้วแต่วิจารณญาณของผู้ปกครองแต่ละบ้าน บ้านเราเป็นสายดนตรีซึ่งต้องใช้เวลาและวินัยในการฝึกซ้อมให้เกิดทักษะ จึงต้องมีหนึ่งคนประกบลูกอย่างใกล้ชิด เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกเลย เรียนทุกอย่างที่ลูกเรียน ไม่ว่าจะเรียนที่โรงเรียนดนตรีหรือออนไลน์ก็ตาม เพราะต้องพาลูกซ้อมเองที่บ้าน ฝึกอ่านโน้ต เรียนรู้โน้ต เครื่องหมายและคำศัพท์ สัญลักษณ์ต่างๆ วิธีการใช้มือ ใช้นิ้ว ใช้ข้อมือ ใช้แขน ใช้ร่างกาย และไดนามิกต่างๆ พาลูกดูการแสดงของศิลปิน ดูมาสเตอร์คลาสต่างๆ เตรียมแบบฝึกหัด ถ่ายวีดีโอ ส่งการบ้าน เมื่อครูตรวจการบ้านแล้วก็ต้องพาลูกแก้ไขตามคำแนะนำ ต้องคอยดูโน้ต ดูนิ้ว ฯลฯ ถ้าจะบอกว่า "เหนื่อยกว่าครู ก็ตรูนี่แหละ" ก็สามารถพูดได้อย่างไม่เคอะเขินแต่ประการใด

          "เลือกคอร์สเรียนที่พัฒนาไปเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง"
          การเลือกคอร์สเรียนพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไร ควรเลือกแบบที่เรียนรู้ได้ต่อเนื่องแบบยาวๆ นะครับ พวกคอร์สฟรีหรือไม่ฟรีที่สั้นๆ ก็มีประโยชน์แต่มันจะคล้ายๆ จิ๊กซอว์เล็กๆ พอจบคอร์สแล้วมักจะรู้สึกว่า "แล้วไงต่อ?" พอไปซื้อคอร์สใหม่ ก็จะมีเนื้อหาซ้ำๆ หรือบางทีก็ต้องกลับไปเริ่มเรียนสิ่งที่เราผ่านมาแล้ว ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก มันก็ดีครับทำให้เรามีความรู้แน่นขึ้น แต่มันเสียเวลาครับ
          คอร์สเรียนเปียโนก็เหมือนกันนะครับ เผื่อหลายบ้านอยากได้คำแนะนำเรื่องนี้ ควรเป็นคอร์สยาวๆ หลักสูตรที่ต่อเนื่องแบบยาวๆ สำหรับเด็กเล็ก แต่อย่าเพิ่งคาดหวังอะไร เปียโนเด็กเล็กก็จะเหมือนการส่งลูกไปโรงเรียนอนุบาล ไปวิ่งเล่น ทำความคุ้นเคย ถ้าไม่สนุกแล้วก็..เลิก ไปเรียนอย่างอื่น แต่ถ้าเขาชอบ ให้มองหาครูที่เก่ง และมีเวลาให้มากๆ หน่อย เช่นสัปดาห์ละสามชั่วโมงต่อเนื่อง ดูผลงานของครูจากลูกศิษย์คนอื่นๆ รุ่นพี่ๆ ว่าเขาเก่งหรือเปล่า สมัยนี้หาดูได้ไม่ยากครับ ถ้าเป็นครูที่เก่ง เด็กจะพัฒนาเร็วแบบก้าวกระโดด ระยะเวลาที่จะต้องชำระเงินของพ่อแม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็จะสั้นลงเช่นกัน 

          คอร์สเรียนภาษาจีน ตอนนี้เจือเรียนผ่านคอร์สออนไลน์แบบสมัครสมาชิกรายปีของ Super Chinese เป็นการเรียนผ่านแอพลิเคชั่น มีแบบฝึกหัดที่หลากหลาย ได้ฝึกทั้งทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน สามารถตอบโต้กับผู้เรียน ไล่ระดับจากง่ายขึ้นไปยาก จำลองสถานการณ์การสนทนากับคนทุกเพศทุกวัย ดีครับแนะนำแอพนี้

          คอร์สเรียนภาษาอังกฤษ เจือเสริมทักษะภาษาอังกฤษจากแอพ Elsa มีวิธีการเรียนคล้ายกับ Super Chinese จัดเป็นคอร์สที่คุ้มค่าคุ้มราคามากๆ แนะนำเช่นกันครับ 
          แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีครูเฉพาะทาง หรืออยู่ใกล้โรงเรียนสอนพิเศษ ก็แนะนำให้เรียนควบคู่กันไปนะครับ
          
          วิชาคณิตศาสตร์ไม่ค่อยได้พูดถึง แต่ก็..แค่..บวกเลขหลักล้านได้สบายๆ ครับ
          พ่อ : เจือ ห้าล้านบวกสิบล้านได้เท่าไหร่ลูก?
          เจือ : สิบ ห้า ล้าน !!! โถ่ววว...ระดับนี้แล้ววว 
          พ่อ : สิบเจ็ดล้าน บวกยี่สิบสี่ล้านล่ะ?
          เจือ : เอิ่มมมมม....พ่อ!! เครื่องคิดเลข!!!
          
          พบกันใหม่ครั้งหน้า สวัสดีครับ