พาลูกเตรียมสอบทฤษฎีดนตรี เกรด 5 ด้วยตัวเอง

	ดนตรีนั้นเป็นการเกื้อหนุนผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติและความรอบรู้ที่หลากหลายระดับชั้นทางทฤษฎี  ดังนั้นในการเรียนดนตรี ถ้าต้องการพัฒนาการที่ก้าวหน้าเป็นลำดับ ผลสัมฤทธิ์ที่เต็มประสิทธิภาพ แนะนำว่าให้เลือกเรียนกับครูที่มีประสบการณ์ มีเวลา และมีฝีมือมากพอ จริงอยู่ว่าในระดับของเด็กๆ อาจไม่จำเป็นต้องมีครูที่เก่งระดับศิลปิน แต่ครูที่เก่งจะถ่ายทอดฝีมือของเขาผ่านมาทางการเรียนการสอนนั่นเอง หรือในบางสถานที่อาจไม่มีครูในอุดมคติแบบนั้น ก็หาครูในพื้นที่สักคน การมีครูย่อมดีกว่าไม่มีอย่างแน่นอนครับ แต่ถ้าไม่มีจริงๆ  หลักสูตรออนไลน์ก็เป็นทางเลือกที่ดีถ้ามีความตั้งใจและมีวินัยมากพอ
	ครั้งนี้เป็นประสบการณ์ในมุมของผู้ปกครองที่มีความจำเป็นต้องพาลูกเตรียมตัวสอบทฤษฎีด้วยตัวเอง ผมเริ่มเขียนขณะนั่งรอผลสอบของลูกอย่างจดจ่อ ต้องหาอะไรทำให้เวลาดูผ่านไปเร็วขึ้นอีกสักนิด สามวันก็แล้ว เจ็ดวันก็แล้ว สองสัปดาห์ สามสัปดาห์ และวันนี้ก็ครบสี่สัปดาห์ที่เฝ้ารีเฟรชหน้าจอทุกๆ ครึ่งชั่วโมง เห็นรูปลูกในเอกสารการสอบที่วางอยู่ใกล้ๆ ก็อดหวั่นไหวไม่ได้เมื่อนึกว่าการสอบครั้งนี้ผลอาจออกมาในทางลบ เพราะอุปสรรคและความไม่สมบูรณ์แบบขณะสอบ มันดูฉุกละหุกและติดขัดไปหมด 
	เมื่อผ่านเวลานั้นมาแล้วและผลก็ออกมาเป็นที่พอใจ ผมจึงอยากจะบันทึกเอาไว้เพื่อเป็นกำลังใจและคลายกังวลให้กับหลายๆ คนที่กำลังจะเตรียมตัวสอบ เอาละ..ถ้าทางสุดท้ายที่คุณเลือกคือการเตรียมตัวสอบด้วยตัวเอง จงสบายใจตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ปัญหาของเราไม่ใช่การสอบ แต่เป็นความรู้ความเข้าใจที่ต้องเตรียมเอาไว้สอบ ทฤษฎีทั้งหลายไม่ใช่สิ่งที่จะทำความเข้าใจไม่ได้ แต่ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าจะต้องเรียนอะไรบ้างเพื่อสอบ จงรู้ บัดเดี๋ยวนี้

	ระดับทฤษฎีดนตรี จะแบ่งเป็นเกรด ใช้สอบค่ายไหนก็ได้ แต่จุนเจือสอบค่าย Royal หรือ ABRSM ซึ่งในระดับเกรด 5 มีเรื่องที่ต้องสอบดังนี้

	1. Rhythm เรื่องจังหวะ
	- Time Signature ชนิดต่างๆ
	- การแบ่งห้องโน้ต การจัดกลุ่มโน้ต-ตัวหยุด ทั้งแบบ Simple และ Compound
	- การเขียนใหม่ Simple ให้เป็น Compound และ Compound ให้เป็น Simple
	- ตอบคำถามเรื่องค่าของตัวโน้ต

	2. Pith พื้นฐานของการ Improvise
	- ระดับของโน้ตที่เลื่อนขึ้นลงบนบรรทัดห้าเส้นตามกุญแจที่ใช้ 
	- การเขียนโน้ตใหม่สำหรับเครื่องดนตรีบางชนิดให้เล่นร่วมกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ได้

	3. Key and Scales อันนี้ก็ยุ่งแน่ถ้าไม่ได้ฝึก Scales มาก่อน และจำ Circle of Five ได้อย่างแม่นยำ แต่ในตอนสอบเราจะมีประดาษเปล่าสองแผ่นอยู่แล้ว ฝึกเขียนไว้ให้ขึ้นใจแล้วจะดีต่อชีวิต เอาให้แม่นทั้งทาง Flat และทาง Sharp
	- Key Signature ตามโจทย์ เป็นคีย์อะไร? 
	- ตามกุญแจที่กำหนดมา Key Signature นี้เป็นคีย์อะไร เป็น Major หรือ Minor
	- เติมโน้ตตามชื่อคีย์ให้ถูกต้อง

	4. Intervals เรื่องนี้ยาวที่สุดเพราะต้องทำความรู้จักมาหลายชั้น 
	- ขั้นคู่แต่ละขั้นเรียกว่าอะไร แบบไหนเรียก major / minor / perfect / augmented / diminished
	- เติมโน้ตให้เป็นแบบต่างๆ ที่กำหนด

	5. Chords
	- ในห้องที่กำหนดของโน้ตเพลง เป็นคอร์ดอะไร? คอร์ดที่เท่าไหร่? เป็น Cadence.แบบ Perfect Imperfect หรือ Plagal
	- คอร์ดในห้องนั้นเป็นคอร์ดอะไร พลิกกลับขั้นที่เท่าไหร่?

	6. Terms, Signs and Instruments
	ตอบคำถามเกี่ยวกับสัญลักษณ์ต่าง คำศัพท์ต่างๆ ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ เช่น
	- Morendo แปลว่าอะไร? มีคำศัพท์ที่ต้องรู้อยู่หลายคำ ทางที่ดีควรท่องจำคำศัพท์ในระดับที่เราข้ามๆ การสอบมาด้วย มีทั้งภาษาอิตาลี่ ฝรั่งเศส และอื่นๆ
	- ถ้าเล่นเสียงตามโน้ตที่ให้มา ตรงกับเครื่องหมายพิเศษอะไร
	- เครื่องดนตรีชนิดนี้เป็น Transposing instrument หรือเปล่า? เครื่องดนตรีชนิดนั้นเล่นด้วยกุญแจชนิดอะไร? เครื่องดนตรีชนิดโน้นเป็นแบบเสียงตายตัวหรือปรับระดับเสียงได้ เป็นต้น

	7. Music in Context
	เป็นการนำความรู้ที่ผ่านมามาใช้จริง ผ่านโน้ตตัวอย่าง เช่น
	- การเปรียบเทียบระดับเสียงของโน้ตเมโลดี้ที่ยกมาเป็นบางห้อง ในกกุญแจเสียงต่างๆ 
	- บทเพลงนี้ต้องเล่นความเร็วเท่าไหร่ อารมณ์เพลงเป็นแบบไหน
	- การถามตอบเกี่ยวกับสัญลักษณ์ต่างๆ ในโน้ตนี้มี Upper Mordents กี่ตัว ห้องนั้นถึงห้องนี้ มีโน้ต Dominant / Mediant ของคีย์นั้นกี่ตัว Time Signature เป็นแบบ Simple หรือ Compound เป็นต้น

	เริ่มมองออกแล้วใช่ไหมครับว่าเราต้องหาความรู้เรื่องอะไรบ้าง ผมบอกว่าไม่ใช่จะไม่สามารถทำความเข้าใจได้ แต่ไม่ได้บอกว่าง่ายเสียทีเดียวนะครับ ต้องใช้เวลากับมันประมาณหนึ่งกว่าจะเริ่มเข้าใจได้ ความรู้ในแต่ละข้อเหมือนจิ๊กซอว์ขนาดห่ามๆ แม้ในเรื่องเดียวกันก็ต้องต่อหลายชิ้นกว่าจะประกอบกันเป็นความรู้เรื่องนั้นๆ อย่างสมบูรณ์ 

	ทีนี้มาดูกันว่าเริ่มจากตรงไหนดี เป้าหมายของเราคือ สอบเกรด 5 ดังนั้น

	1. ซื้อหนังสือเรียนทฤษฎีดนตรีเกรด 5 เพื่อจำกัดขอบเขตการหาความรู้ของเรา มันจะช่วยประหยัดเวลาได้มาก เพราะถ้าไม่จำกัดเอาไว้ แค่เรื่อง Interval มันก็มีหลายระดับ บางทีเราอาจเสียเวลาไปมากมายกับสิ่งที่ไม่ได้ใช้สอบในเกรดนี้ แต่เอาจริงๆ มันก็ต้องเข้าใจเรื่องนั้นทั้งหมดนั่นแหละครับเพื่อป้องกันการพลิกแพลงของโจทย์ และเราคงไม่เลิกหลังจากสอบเกรด 5 แล้ว มันเป็นสิ่งที่ต้องมีในตัวนักดนตรี โดยเฉพาะนักดนตรีที่คิดว่าตัวเองจะเป็นครูด้วย ซื้อที่ไหน? เสิร์ชเลยครับ 
	ส่วนตัวผมนั้นได้ใช้หนังสือ "ทฤษฎีดนตรี" ของอาจารย์ณัชชา พันธุ์เจริญ ที่ซื้อมาเตรียมไว้อย่างน้อยสามปี หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่นิสิตมหาวิทยาลัยใช้ มีเนื้อหาครอบคลุมครบถ้วน อาจไม่ได้แบ่งเป็นหัวข้อตรงกับหนังสือเรียนเกรด 5 แต่มีเนื้อหาครบอย่างแน่นอนครับ ขาดเพียงคำศัพท์ทางดนตรีบ้างเล็กน้อยเท่านั้น และหนังสือยังอัดแน่นไปด้วยแบบฝึกหัดให้ได้ฝึกทำจนเข้าใจจริงๆ ต้องกราบขอบคุณท่านอาจารย์เอาไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

	2. ถ้าคิดว่าหาความรู้เตรียมไว้ก่อนแบบกว้างๆ สักพักค่อยโฟกัสทีหลัง ก็สามารถหาโหลดหนังสือ หรือแบบทดสอบเก่า ได้ไม่ยาก ลองทำข้อสอบของปีที่ผ่านๆ มา เอาให้ชัวร์แล้วปิดท้ายด้วยของปีล่าสุด แต่แนวข้อสอบจะเหมือนกันทุกๆ ปี จากที่พาลูกทำข้อสอบไม่น้อยกว่า 10 ชุด ชุดละอย่างน้อย 5 รอบพบว่า เขาจัดลำดับรูปแบบคำถามหรือโจทย์ไว้เหมือนๆ กัน ต่างกันที่รายละเอียดเช่นโน้ต - เครื่องหมาย - เครื่องดนตรี ที่นำมาใช้  เท่านั้นเอง

	3. เริ่มค้นหาข้อมูล จากเจ็ดหัวข้อที่ผมบอกไป ไล่มาเป็นลำดับเลยครับ ดูหนังสือเกรด 5 ประกอบว่าระดับนี้ต้องลงลึกไปในรายละเอียดมากแค่ไหน แหล่งความรู้ที่ผมใช้อยู่ตรงนี้ครับ

	ช่องนี้ สำคัญมาก Sharon Bill 
	https://www.youtube.com/playlist?list=PLpH_mDj0fStUl17Prhfk2tOt1uEYMSLil 
	พาทำแบบฝึกหัดไปทีละบทๆ ของเกรด 5 ถ้าถนัดภาษาอังกฤษด้วยก็ดีเลยครับ ช่องเดียวแทบจะเอาอยู่ แต่สำหรับผมได้พยายามแล้วในช่วงแรก ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เลยต้องหาเปิดตำราภาษาไทยของอาจารย์ณัชชาก่อน แล้วมาปิดท้ายด้วย Sharon Bill เป็นรอบสุดท้าย ลิงค์ตามข้างบนเลยนะครับ ยกมาทั้ง Playlist เลย ในช่องยังมีความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย โดยเฉพาะถ้าใครมีปัญหาเรื่องคอร์ด ไม่รู้ว่าโน้ตในห้องนั้นเป็นคอร์ดอะไร คอร์ดที่เท่าไหร่ของคีย์นั้นคีย์นี้ บอกเลยว่าเทคนิคของ Sharon Bill ทำให้เจือได้คะแนนเต็มในเรื่องนี้

	ช่องนี้  Sundown Channal (เขียนแบบนี้) 
	https://www.youtube.com/@SundownAmplifieR 
	อธิบายเรื่องขั้นคู่เอาไว้อย่างละเอียด รู้สึกพี่เขาจะเป็นมือ Bass เป็นครูสอนดนตรีด้วย ติดตามผลงานกันได้เลยนะครับ เรื่องขั้นคู่ค่อนข้างยาก จนไม่สามารถฟังคลิปฝรั่งเข้าใจ ช่องนี้เป็นหนึ่งในจำนวนน้อยที่คนไทยทำไว้ด้วยใจเป็นสาธารณะ ขอบคุณมากจริงๆ ครับ 

	ช่องนี้  https://www.youtube.com/@AfternoonTeaMusic 
	พี่วิว กับพี่กวาง ทำช่องทฤษฎีดนตรีแบบตะมุตะมิน่ารักและมีประโยชน์ เปิดฟังเพลินๆ ระหว่างวันสะสมความรู้ไปทีละน้อยครับ เคยเห็นพี่วิวไปออกรายการทีวี เหมือนจะมีกิจกรรมทางดนตรีตามโรงเรียนต่างๆ ด้วย ครับ 

	เว็บไซต์ https://www.musictheory.net/
	ฝึกทฤษฎีทุกอย่าง ตั้งแต่ฝึกอ่านโน้ตเบื้องต้น จนถึงเรื่องยากมากๆ ผ่านหน้าเว็บไซต์เลย เป็นเหมือนเกมฝึกทักษะ ปรับระดับความยากง่ายได้ ดีมากๆ ช่วยได้เยอะมากๆ 
	และยังมีแหล่งอื่นๆ ที่ค้นหาผ่าน Google ซึ่งจะเสิร์ชแยกเป็นเรื่องๆ ไป ก็จะได้เอกสารของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้าง อื่นๆ บ้าง ก็ต้องขอบคุณทุกๆ แหล่งความรู้เอาไว้ในโอกาสนี้ด้วยครับ

	ยังไงก็ตาม  หลายคนอาจจะเริ่มรู้สึกว่ายากเกินไป และคงจะต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะพร้อมสอบ  อย่าลืมว่าเรามาถึงตรงนี้เพราะเราตัดสินใจที่จะเตรียมสอบด้วยตัวเอง บางครั้งชีวิตก็ไม่ได้มีทางเลือกมากมายนัก แม้แต่ทางเลือกที่จะเปลี่ยนใจ
	ผมใช้เวลาปีเศษในการเตรียมตัวสอบทฤษฎีของลูก เดิมทีคิดว่าคงจะใช้เวลาไม่มาก เพราะจุนเจือมีทักษะอยู่แล้ว และตลอดระยะเวลาหลายปีที่่ผ่านมาก็ได้หาความรู้เอาไว้บ้างแล้วพอสมควร แต่พอเปิดหนังสือปุ๊บ โอ้..นี่มันยุ่งกว่าการปฏิบัติเยอะเลยครับ เลยต้องแบ่งเวลาซ้อมมาส่วนหนึ่งเพื่อเรียนรู้ทฤษฎีแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็รู้สึกว่าช้าไปหน่อยจนออกอาการได้หน้าลืมหลัง ในที่สุดก็เปลี่ยนมาเป็นเรียนแบบทั้งวันเว้นวัน ไล่ดูแบบฝึกหัดไปด้วยกันทีละข้อ ช่วยกันวิเคราะห์ที่มาที่ไป หาคำตอบและวิธีการว่าทำไมจึงตอบแบบนี้ทำไมจึงไม่ตอบแบบนั้น หาความรู้เพิ่มเติมจากหลายๆ แหล่งอย่างที่ได้ให้ลิงค์ไปแล้ว ซึ่งบอกเลยว่ายากมากที่จะหาความรู้ทางดนตรีฟรีๆ แบบตรงประเด็นที่เป็นภาษาไทย แต่ก็เข้าใจได้ครับ นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราส่งเสริมลูกให้เรียนดนตรี ทุกอย่างมีราคาเสมอ
	หลังการฝ่าฟันกับแบบฝึกหัดมาอย่างยาวนาน ในที่สุดเราก็เตรียมตัวสอบเสร็จ เลือกวันดีๆ สักวัน เพื่อทำการสอบ อ้าว..ไม่มีที่ไหนเปิดบริการห้องสอบ ตอนนี้ทุกคนต้องสมัครสอบตรงกับศูนย์ใหญ่ที่ประเทศอังกฤษ ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดอุปสรรคในวันสอบจริง จนเกือบตกม้าตาย
	ในช่วงโควิด ระบบการสอบเปลี่ยนเป็นสอบออนไลน์ ชุดข้อสอบเปลี่ยนจากกระดาษเป็นทำข้อสอบบนแพลทฟอร์ม และทุกคนสามารถจัดห้องสอบด้วยตัวเองได้ที่บ้าน ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องที่สะดวกสบายดี แต่...สำหรับผม (อาจจะเป็นคนส่วนน้อย) รู้สึกว่า มันเป็นการโอนภาระความยุ่งยากมาให้ผู้ปกครอง พ่อแม่ที่ส่งลูกเรียนดนตรี ส่วนใหญ่ก็ส่งต่อและฝากความหวังในการเรียนเอาไว้กับครู ทั้งการเรียนการสอบเป็นหน้าที่่ของครู แล้วรอภูมิใจกับผลการเรียนของลูกอย่างชิลๆ แน่นอน เราจ่ายเงินไปมากมายเพื่อสิ่งนี้ แต่พอลูกต้องจัดห้องสอบออนไลน์ที่บ้าน งานก็งอกที่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ
	ผมคิดว่านักเรียนส่วนใหญ่ที่เรียนกับครู ครูอาจจะจัดการเรื่องสอบให้ได้อยู่แล้ว แต่สำหรับกรณีของผม ต้องดำน้ำกันเอง แบบยุ่งเหยิงนิดๆ มันจึงฉุกละหุกไปหมดดังที่เพิ่งผ่านมา ผมได้ติดต่อไปที่เคยเป็นศูนย์สอบในประเทศไทยก็ไม่ได้มีบริการห้องสอบแต่อย่างใด ต๊ายตาย จึงต้อง..มามะ..จัดเองโลด

	ก่อนวันสอบ
	เพื่อลดความผิดพลาดทางเทคนิคอันอาจจะเกิดขึ้นได้ ผมพาลูกศึกษาขั้นตอนการสอบอย่างละเอียด จากเว็บไซต์ของศูนย์สอบ ดูวีดีโอตัวอย่างทุกขั้นตอน ตั้งแต่แสดงเอกสาร ถ่ายรูปใบหน้า สแกนห้อง และทำข้อสอบบนแพลทฟอร์มจริงตั้งแต่ต้นจนจบ และเพื่อให้แน่ใจยิ่งขี้นไปอีกว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับผู้ตรวจสอบ กรณีมีความสงสัยและสั่งให้ทำโน่นทำนี่เพิ่มขึ้น เราเลือกใช้ห้องสอบที่เป็นห้องโล่งๆ ไม่มีอะไรในห้องเลย ผนังเป็นสีขาว มีเพียงโต๊ะและเก้าอี้เล็กๆ สำหรับจุนเจือ และเก้าอี้อีกหนึ่งตัวสำหรับผู้ช่วยเหลือทางเทคนิค (ซึ่งคือตัวผมเอง) ตั้งเอาไว้ไกลๆ
	มีการเช็คความเข้ากันได้ของอุปกรณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก พบว่ากล้องโน้ตบุ๊คแสดงภาพกลับด้าน และไม่สามารถตั้งค่าให้พลิกกลับได้ และเนื่องจากไม่สามารถรันโปรแกรมที่ใช้สอบก่อนเวลาได้ จึงไม่รู้ว่าโปรแกรมจะพลิกภาพได้หรือไม่ เลยเปลี่ยนมาใช้กล้องแบบเสียบภายนอก ซึ่งคุณภาพก็ใกล้เคียงกัน 

	เมื่อวันสอบมาถึง
	ผมลืมบอกไปว่า ห้องสอบอยู่ห่างจากที่พักอาศัยปัจจุบันประมาณ 8 กิโลเมตร เราเตรียมพร้อมที่ห้องสอบ ติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อยทุกอย่าง พ่ออยู่ในห้องกับจุนเจือ แม่นั่งลุ้นอยู่หน้าบ้าน คอยกระซิบบอกผู้คนที่แวะมาทักทายว่า จุนเจือกำลังสอบอยู่ เงียบๆ หน่อยค่า... ระบบจะเริ่มนับเวลาแบบไม่สามารถย้อนกลับได้เมื่อเริ่มกดปุ่ม Start Test 	
	"เอารึยัง?" 
	" ไปเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย ถึงเขาจะอนุญาตให้เข้าห้องน้ำได้หนึ่งครั้ง แต่เราจะทำรวดเดียวเลยนะ พร้อมแล้ว เริ่ม!"
	แล้วการดำน้ำแบบไม่สามารถย้อนกลับก็เริ่มขึ้น การติดตั้งโปรแกรมและ Setting ทุกอย่างจะต้องเสร็จภายใน 1 ชั่วโมง และสำหรับทำข้อสอบอีก 2 ชั่วโมง ระบบเริ่มบันทึกแล้ว กว่าจะโหลดโปรแกรมมาติดตั้งได้ ก็ใช้เวลาเป็นสิบนาทีเหมือนที่เขาแจ้งไว้ ซึ่งมันนานมากสำหรับเรา เอ๊ะ..ต้องกดอะไรอีกไหม ทำซ้ำได้ไหม ทำไมมันนิ่งจัง ฯลฯ ช่วยกันอ่าน ช่วยกันแปลอยู่ตลอดเวลา คือ จุนเจือต้องคอยแปลให้ผู้ช่วยซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือตัวเองฟังอีกที เพราะภาษาอังกฤษของจุนเจือดีกว่าพ่อ
	เมื่อลงโปรแกรมเสร็จแล้ว ก็ต่อด้วยการโชว์เอกสารแสดงตัวตน (โหลดมาติดรูปถ่ายลายเซ็นไว้เรียบร้อย) โชว์กระดาษทดเปล่าๆ พลิกให้ดูทั้งสองหน้าช้าๆ  ถ่ายรูปใบหน้า แล้วก็สแกนห้อง ขั้นตอนนี้มีเวลาจำกัดมาก เพียง 15 วินาทีสำหรับเพดานและพื้น 30 วินาทีสำหรับสแกนไปรอบๆ ห้อง ซึ่งมันก็จะได้ภาพวีดีโอที่เบลอๆ แม้จะทำใหม่หลายครั้ง

	เมื่อ Setting เสร็จแล้ว ก็เริ่มทำข้อสอบได้เลย
	ผ่างงงง...ลืมหยิบเม้าส์มา โอ้..โน้ววว...
	พูดอะไรกันมากก็ไม่ได้เดี๋ยวกรรมการจะสงสัยว่าช่วยกันทำข้อสอบ แค่สงสัยไม่เท่าไหร่ถ้าอธิบายได้ แต่...มันหนักกว่านั้นอีกถ้าฟังไม่รู้เรื่องและตอบไม่ได้
	ผมออกจากห้องอย่างเงียบๆ ส่งกระแสจิตไปบอกลูก "ทำไปก่อนนะลูก..ได้โปรด" ถึงจะหน้านิ่งๆ แต่ในใจลุกโชน เดินผ่านหน้าเมียที่มองมาอย่างมีคำถาม ถ้าตอบ..ก็ตายดิ.. ขับรถจู้ดดดดดด...ระยะทาง 8 กิโลถ้าไปทางลัดคงจะเร็วขึ้นสินะ แล้วก็ไปเจอใครต่อใครที่ชีวิตสโลวไลฟ์เต็มถนนไปหมด โอย..คนรีบก็มีครับลูกพี่...รวมเวลาไปเอาเมาส์น่าจะสัก 20-30 นาที จุนเจือใช้ประโยชน์่จากการเล่นเกมบ่อย สามารถ Drag and Drop โดยไม่ต้องใช้เมาส์ผ่านไปแล้วหลายข้อ ดีนะที่ไม่วิ่งออกจากห้องมาหาเม้าส์ข้างนอก (จุนเจือเป็นเด็กโฮมสคูล ไม่เคยทำข้อสอบในห้องเหมือนเด็กรุ่นเดียวกัน)

	สิ่งที่ทำให้ผมกังวลเกี่ยวกับผลสอบในครั้งนี้อยู่ตรงนี้ครับ 
	ปกติแล้วผมไม่ค่อยได้ใช้กล้องและไมโครโฟนที่ติดมากับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค แม้แต่กล้องเว็บแคมแบบที่กำลังใช้อยู่ ไม่เคยสังเกตว่ามุมมองมันแคบขนาดนี้ ก่อนทำข้อสอบผมได้หันกล้องมาทางโต๊ะ ตั้งใจให้เห็นมุมกว้างๆ ทั้งจอ ทั้งบนโต๊ะ และลำตัวช่วงบนขณะทำข้อสอบ แต่เอาเข้าจริงๆ ภาพมันแคบจนไม่ได้มองเห็นใบหน้าว่าผู้ที่กำลังสอบคือจุนเจือหรือไม่ และด้วยความตื่นเต้น บวกกับภาพจากกล้องก็ถูกย่อลงไปอยู่ในกรอบเล็กๆ ขณะเริ่มทำข้อสอบ ผมจึงไม่ทันสังเกตเห็นว่าภาพเป็นแบบนั้น มาเห็นอีกทีก็เมื่อลูกทำข้อสอบเสร็จแล้ว ได้แต่หวังว่า กรรมการจะสนใจผลสอบมากกว่ามุมกล้องครับ
	หลังจากการรอคอยอันยาวนาน เป็นเวลาถึง 4 สัปดาห์เต็ม ผลสอบก็ออกในเช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ได้คะแนน 68 เต็ม 75 ผ่านระดับ Distinction (ผ่านยอดเยี่ยม) มีตกหล่นบ้างจากความไม่รอบคอบ และบางเรื่องที่ไม่ค่อยถนัดเช่นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดนตรีชนิดอื่น ถือว่าผลออกมาดีมากสำหรับการเตรียมตัวสอบด้วยตัวเอง ปรบมือ..เย้ๆๆ 
	สำหรับพ่อคือ รู้สึกปลอดโปร่ง โล่ง สบาย อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน คืนนี้คงหลับสบายตลอดคืน เฮ้ออออ....จะได้เดินหน้าต่อเสียที

	หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คนที่กำลังจะเตรียมตัวสอบทฤษฎีเกรด 5 ความรู้ทั้งหลายไม่ใช่ความลับ แค่เพียงเราตั้งใจและทุ่มเทกับมันให้มากพอ เราจะทำได้อย่างแน่นอน และจะช่วยได้มากถ้าคุณพอจะรู้เรื่องดนตรีอยู่บ้าง ตัวผมเองก็ไม่ได้เป็นนักดนตรี แต่ผมพาลูกเรียนพาลูกซ้อม เรียนรู้ไปด้วยกันมาตั้งแต่ต้น ผมจึงรู้ทุกอย่างที่ลูกรู้และรู้ว่าสิ่งไหนที่ลูกจะต้องเรียนรู้เป็นลำดับต่อไป หาความรู้ เตรียมพร้อมที่จะนำพาเขาไปสู่จุดหมายถึงแม้เส้นทางจะขรุขระทุระกันดารขนาดไหนก็ตาม ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่หรืออย่างน้อยก็เป็นวัยรุ่น คุณจะเรียนรู้อย่างคล่องตัวกว่านี้มาก 

	อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการนำพาในระยะเวลาสั้นเท่านั้น คล้ายกับการสอนลูกอ่านหนังสืออยู่ที่บ้าน ในระดับที่สูงขึ้นจะมีเนื้อหาและเทคนิควิธีการที่คนไม่ใช่ครูอย่างเราไม่สามารถเติมเต็มให้เขาได้ เพราะเคล็ดวิชาบางอย่างเขาก็ถ่ายทอดกันภายในสำนักของใครของมัน และยังมีเรื่องการยอมรับนับถือในสังคมนักดนตรีด้วยกันที่ต้องคำนึงถึง ยังไงก็ต้องมีครูนะครับ แต่ถ้าเราเรียนรู้เพื่อความสุขและความภาคภูมิใจของเราเอง จัดเลยครับ ดนตรีไม่ใช่คณิตศาสตร์ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ถึงแม้จะมีอยู่บ้างตามทฤษฎี แต่มันก็ยืดหยุ่นไปตามจินตนาการและประสบการณ์ของผู้บรรเลง ถามตัวเองซิว่าเปียโนที่ตั้งอยู่ตรงนั้นน่ะเป็นของใคร ถ้าเป็นของเรา..เล่นยังไงก็ได้ที่เรามีความสุขครับ

	ย้ำอีกทีเพื่อความสบายใจในการเตรียมตัวสอบ ผมไม่อยากให้ใครรู้สึกกังวลเหมือนที่ผมเพิ่งผ่านมา ถึงแม้ในการสอบจะมีกฎกติกาที่ค่อนข้างหยุมหยิม แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ตรวจสอบ ถ้าคุณมีลูกมีหลาน หรือเคยเลี้ยงเด็ก ต้องทำงานกับเด็กๆ คุณจะเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันยืดหยุ่นได้ กติกาทั้งหลายสร้างมาเพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติอย่างกว้างๆ เท่านั้น ในคำแนะนำก็จะบอกเสมอว่าสิ่งไหนจะนำไปประเมินหรือไม่ต้องประเมิน แต่ก็ไม่ควรทำอย่างนั้นไม่ควรทำอย่างนี้เป็นเรื่องมารยาทและภาพลักษณ์ที่เหมาะสมเสียมากกว่า และกฎมีไว้เพื่อป้องปรามการทุจริตในการสอบซึ่งผมเชื่อว่ามีน้อยคนที่จะคิดทำแบบนั้น อย่ากลัว ลุยโลด 

	แล้วพบกันใหม่หลังการสอบปฏิบัติเกรด 8 ของจุนเจือครับ