บันทึกร่องรอยการเรียนรู้ปีที่ 2

	ไหนใครเลี้ยงลูกเองบ้าง? ยกมือขึ้นครับ
	ผมเคยสัญญาไว้ว่าจะอัพเดทเรื่องราวของการเลี้ยงลูกให้กับคุณพ่อคุณแม่โฮมสคูลมือใหม่ได้ทราบเป็นระยะ จากวันนั้นถึงวันนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ สองของการปรับเปลี่ยนมาเป็นวิถีชีวิตแบบโฮมสคูล ถ้าใครมีโอกาสเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนลูกไปโรงเรียนและหลังจากที่เขาเลิกเรียน ก็คงจะพอนึกภาพออกว่าการเลี้ยงลูกนั้นเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน เวลาโรงเรียนปิดเทอม ผมเห็นน้องๆ คุณพ่อคุณแม่บางคนเฝ้ารอวันที่ลูกเปิดเทอม จะได้ไปโรงเรียนเสียที มันคงเป็นอะไรที่โล่ง โปร่งสบายกว่ากันเยอะเลยใช่ไหมครับ
	แล้วครอบครัวโฮมสคูลอย่างเราล่ะเป็นยังไงบ้าง ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีกว่าๆ เกือบสองปี ผมเชื่อสนิทใจตามที่พี่ๆ โฮมสคูลรุ่นก่อนๆ เคยบอกไว้ว่า เหนื่อยมากนะจ๊ะ เหนื่อยมากสมคำร่ำลือจริงๆ เพราะโฮมสคูล มีอะไรที่พ่อแม่ต้องคำนึงถึงมากกว่าความรู้แขนงต่างๆ ที่ลูกจะต้องมี หรือต้องการจะมี การช่วยเหลือตัวเอง ระเบียบวินัย คุณธรรมจริยธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เข้ามาเพิ่มเติมความเหน็ดเหนื่อยให้กับพ่อแม่ได้เป็นอย่างดี

	ช่วงเวลาที่แสนเหน็ดเหนื่อย
	ต้องแยกกันระหว่างความเหน็ดเหนื่อยกับความท้อแท้สิ้นหวังนะครับ น้องๆ (ผมเป็นรุ่นพี่แล้วนะ) ที่กำลังคิดจะเริ่มโฮมสคุลอย่าเพิ่งตกใจครับ แค่เล่าให้ฟังจะได้นึกออกว่าเราจะต้องเจอกับความเหน็ดเหนื่อยอะไรบ้าง
	เด็กคนหนึ่งที่ต้องไปโรงเรียนตามปกติ สถานการณ์จะบังคับให้เขาต้องรีบเข้านอนเพื่อจะได้ตื่นแต่เช้าไปโรงเรียน เมื่อถึงเวลาตื่น ไม่ว่าจะง่วงแสนง่วงลืมตาแทบไม่ขึ้นขนาดไหน ก็จำเป็นต้องลุกขึ้นไปอาบน้ำแต่งตัว กินข้าวและไปโรงเรียนให้ทันเวลา แปดโมงเช้าเคารพธงชาติ เรียนเมื่อถึงเวลาเรียน พักเมื่อถึงเวลาพัก เล่นเมื่อถึงเวลาเล่น กลับบ้านเมื่อถึงเวลาเลิกเรียน ทำอะไรต้องรักษาเวลา ถ้าเดินช้าหรือมัวไปเถลไถลจะไม่ทันรถรับส่ง กลับมาถึงบ้านต้องทำการบ้าน ถ้าไม่รีบทำก็จะไม่มีการบ้านส่งครูตอนพรุ่งนี้เช้า อาจจะโดนครูทำโทษ ตำหนิ ดุด่า และโดนเพื่อนหัวเราะเยาะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะหล่อหลอมให้เด็กธรรมดาที่ไปโรงเรียนตามปกติเหล่านี้กลายเป็นคนมีระเบียบวินัย ถึงไม่มากเท่าไหร่แต่ก็ต้องมีบ้าง
	เมื่อลูกไม่ได้ไปโรงเรียน เขาจึงไม่ได้มีเพื่อนมากมายให้เปรียบเทียบพัฒนาการด้านต่างๆ ไม่ต้องตื่นตั้งแต่หกโมงเช้า อาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียน ไม่มีเวลาตายตัวสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ  ไม่มีเครื่องแบบ ไม่มีเวลาเลิกเรียน ไม่มีการบ้าน และถ้าเราปล่อยลูกให้มีอิสระเสรีมากเกินไป เขาจะกลายเป็นคนไม่มีระเบียบวินัย ระเบียบวินัยคืออะไร? ทำไมเด็กๆ จึงจำเป็นต้องมี เขายังเด็กอยู่เลย ปล่อยให้วิ่งเล่นตามธรรมชาติ อิสระเสรีแสนสุขใจ ขอบอกไว้ตรงนี้ว่า ไม่ได้นะครับเพราะผมคิดว่านี่คือจุดอ่อนของเด็กโฮมสคูล ย้ำ.."ผมคิดว่า" นะครับคนอื่นคิดยังไงผมไม่ทราบ

	เกือบสองปีมานี้ ผมต้องใช้พลังงานและกำลังใจอย่างสูงสุด ต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเพื่อให้ลูกเป็นคนมีระเบียบวินัย ถ้าดูตามแผนภูมิวงกลมที่ผมทำให้ซ้อนกับนาฬิกา จะเห็นว่าเวลาในชีวิตประจำวันของจุนเจือจะไม่ตรงกับเพื่อนๆ ที่ไปโรงเรียน เราจะเริ่มชีวิตวันใหม่สายกว่าและนอนช้ากว่าเพื่อนๆ ที่ไปโรงเรียน เนื่องจากครอบครัวเรามีอาชีพค้าขาย ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้เวลานอนเลื่อนไป กิจกรรมการเรียนรู้ของลูกก็เลื่อนตามไปด้วย อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนเริ่มสงสัยว่า แล้วระเบียบวินัยจะเกิดขึ้นตอนไหนกัน 
	ระเบียบคือกฎกติกา วินัยคือการทำตามกติกาจนเกิดความเคยชินและกลายเป็นกิจวัตรประจำวันโดยไม่รู้สึกว่าต้องฝืนใจแต่อย่างใด เด็ก 5-12 ขวบ ควรมีเวลานอน 10-11 ชั่วโมงต่อวัน จุนเจืออายุ 7 ขวบควรมีเวลานอนสักประมาณ 9 ชั่วโมงน่าจะเป็นเวลาที่เพียงพอ และเมื่อต้องเรียนเปียโนซึ่งต้องใช้สมาธิและความพร้อมของร่างกายเป็นอย่างมาก จึงต้องพักผ่อนให้เพียงพอ
 
	ความเหน็ดเหนื่อยแรกของวัน คือการขุดลูกออกมาจากที่นอน สอนให้รู้จักการรักษาเวลา เข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัว อาบน้ำ แปรงฟัน สระผม แต่งตัว ผมเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเองทุกคนทราบดีกว่า มันสุดยอดขนาดไหน มีเพียงวันเดียวที่เขาจะตื่นมาตาใสปิ๊งพร้อมลุยกับภารกิจทุกอย่างในวันนั้น นั่นก็คือ วันหยุดนั่นเอง ส่วนวันธรรมดานั้นต้องทั้งขู่ ทั้งปลอบ หลอกล่อ ชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อให้ลูกได้ฝึกดูแลสุขอนามัยของตัวเองด้วยตัวเองภายในเวลาอันสมควร ถึงเขาจะเป็นเด็กดีขนาดไหนแต่เด็กก็คือเด็กครับ ทั้งต้องเหนื่อยในการอธิบายให้เข้าใจว่าทำไมจึงต้องฝึกช่วยเหลือตัวเอง ไหนจะต้องคอยตอบคำถามอื่นๆ ที่เข้ามาในสมองในระหว่างนั้น 

	ความเหน็ดเหนื่อยที่สอง ฝึกลูกให้รู้จักช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน "ลูกจ๊ะลูกจ๋า ช่วยถูพื้นหน่อยจ้า ไม้ถูพื้นต้องจับแบบนี้ คว่ำมือลง ค่อยๆ ถูไปถูมา นึกถึงตอนที่เราทาสีน่ะลูกตรงนี้ทาแล้วก็ขยับไปข้างๆ รวดเร็ว รักษาเวลา อ๋อจ้าดาวอังคารเหรอ? อ๋อ ไม่ๆ อย่าพูดอย่างเดียวต้องทำงานไปด้วย อ๋อ การ์ตูนเรื่องนั้นเหรอมันมีมาตั้งนานแล้วตั้งแต่พ่อยังเป็นเด็กเลย เร็วๆ เข้า ย้ายมาถูตรงนี้ เราสามารถพูดไปด้วยทำงานไปด้วยได้ ที่ตรงนี้คือที่เราจะมานั่งๆ นอนๆ ต้องรักษาความสะอาดนะลูก ไม่ๆ หนูไม่ใช่คนรับใช้ ไม่มีใครเป็นคนรับใช้ของใคร เราต้องช่วยกันทำงาน ใช่ๆ แม่เลี้ยงใจร้ายนั่นมันซินเดอร์เรลล่า" ฯลฯ

	ถึงเวลาเข้าห้องแล้วจ้า นี่คือ..เวลาแห่งความเหน็ดเหนื่อยและความพยายามอย่างยิ่งยวด หลายคนทราบแล้วว่า เราเป็นโฮมสคูลสายดนตรี อันมีเปียโนเป็นหลัก บางคนที่เป็นเพื่อนเฟสเห็นคลิปที่จุนเจือเล่นเปียโนแล้วอาจจะรู้สึกว่า เก่งจัง เล่นเพลงยากๆ ได้ด้วย เฮ้อ..แค่จะเล่าก็เหนื่อยแล้วครับ 
	ดูจากแผนภูมิวงกลมจะเห็นว่า เราให้เวลากับการเรียนเปียโนของลูกเยอะมาก มีทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย รวมๆ แล้วใช้เวลาไม่น้อยเลยในแต่ละวัน จะอธิบายยังไงดีล่ะให้เข้าใจว่า มันจำเป็นต้องใช้เวลามากและต่อเนื่อง ผมจะแยกให้เห็นภาพเป็นข้อๆ การเรียนดนตรีนั้นมีทั้งส่วนที่จำเป็นต้องรู้ หรือที่เราเรียกว่า "ทฤษฎี" และส่วนที่เป็นความชำนาญหรือ "ทักษะ" ที่เกิดจากการฝึกฝนและฝึกซ้อม ในส่วนของทฤษฎี ก็จะคล้ายๆ กับการเรียนวิชาศิลปะ เส้น สี แสงเงา รูปร่าง รูปทรง อะไรเป็นยังไง อาศัยการอ่านหรือการฟังก็สามารถเข้าใจได้ ถ้าลืมก็สามารถอ่านซ้ำ หรือฟังซ้ำ ฟังบ่อยๆ ก็จะจำได้ไม่ลืม เวลาสอบ จำได้ก็ทำข้อสอบได้ ส่วนการปฏิบัติก็คือการลงมือทำจริง ทำบ่อยๆ จนเกิดทักษะ กลายเป็นความแตกฉานจนสามารถสร้างสรรค์ผลงานเป็นแนวทางของตนเอง 
	การเรียนเปียโนก็คล้ายๆ กัน แต่อาจต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและฝึกซ้อมมากกว่า เพราะการเล่นเพลงหนึ่งเพลงนั้นต้องเล่นต่อเนื่องไปจนจบเพลงอย่างไพเราะและถูกต้องแม่นยำ ไม่มีเวลาหยุดคิดระหว่างการบรรเลงเพลง ที่เราเห็นเขาเล่นบนเวทีอย่างไพเราะ ไม่ติดขัดนั้นเพราะเขาผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างโชกโชน
	ในช่วงแรกจุนเจือจะฝึกเล่นเพลงตามหลักสูตรที่กำลังเรียน เพลงแต่ละเกรดเจ้าของหลักสูตรจะออกแบบมาให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของนักเรียน เพลงเดียวกันอาจถูกตัดทอนมาให้เล่นแบบง่ายๆ ให้เด็กๆ ฝึกใหม่เล่นได้ ใส่ทฤษฎีเข้ามานิดๆ หน่อยๆ ให้ไม่รู้สึกว่ายากเกินไป หรือใส่รายระเอียดของเพลงเข้าไปให้นักเรียนระดับที่เก่งขึ้นแล้วเล่นได้เพราะขึ้น หรือจัดเต็มแบบโน้ตแพรวพราวสำหรับคนที่แอดวานซ์แล้ว จุนเจือก็เริ่มมาจากหนูมาลีมีลูกแมวเหมียว ซ้ำไปซ้ำมาจนจำได้ จนเล่นคล่อง ผ่านไปสักพักก็ลืม ก็กลับมาทบทวนใหม่ก็เล่นได้อย่างถูกต้องอีกครั้ง ผ่านไปก็ลืมอีกต้องทบทวนอีก เป็นแบบนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นเหมือนคลื่นของเรือหางยาวที่ขับผ่านการเรียนระดับต่างๆ ผ่านไปทีละเพลงๆ ผ่านหนังสือทีละเล่มๆ ฝึกอันใหม่ไปเรื่อยๆ ยากขึ้นๆ และค่อยๆ ลืมอันเก่าที่ผ่านมาไปเรื่อยๆ เช่นกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะทักษะที่ค่อยๆ เพิ่มพูนก็จะเป็นรากฐานการเรียนในระดับที่สูงๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นเอง เขาจึงมีการสอบเกรดเป็นระยะ เพื่อวัดระดับความรู้ความสามารถ ถ้าไม่มีหลักฐานการสอบเป็นใบประกาศเกียรติคุณแปะเอาไว้ข้างฝา บางทีอาจไม่มีใครรู้ว่าเราเคยเรียนเปียโนและผ่านการฝึกซ้อมมาแล้วมากมาย เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเราอาจจะลืมหมดเลยเหมือนไม่เคยได้เรียนมา แต่ใบประกาศยังอยู่ ฮา...
	ในฐานะพ่อแม่ที่ต้องเฝ้าสังเกตพัฒนาการของลูกอยู่ตลอดเวลา เราจะรู้ว่าลูกมีความสามารถอะไรเป็นพิเศษ และเขาขาดอะไรเป็นพิเศษ ถ้าขาดอะไรก็ต้องหาทางเติมเต็มไม่ให้บกพร่อง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องให้มีติดตัวไว้นิดหน่อย ในส่วนที่มีอะไรมากเป็นพิเศษเราก็ต้องคอยส่งเสริมให้สิ่งนั้นเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ อย่าให้หดหายไป กรณีของเรานั้นลูกมีความสามารถทางการเล่นเปียโนเป็นพิเศษ และมีเครื่องดนตรีไว้ฝึกซ้อมที่บ้าน การรอรับความรู้จากคุณครูที่โรงเรียนเพียงสัปดาห์ละ 20-30 นาที นั้นน้อยเกินไป เพียงแค่กลับมาที่บ้านพ่อพาซ้อมต่ออีกแป๊บเดียว เต็มที่ก็หนึ่งวัน ก็เล่นจนคล่องแล้ว แล้วเวลาที่เหลืออีก 5-6 วันล่ะ? จึงเป็นที่มาของแนวคิดฝึกอย่างอื่นที่จำเป็นล่วงหน้า ไม่ใช่แค่เพื่อแค่ให้เล่นได้ แต่เพื่อให้เกิดทักษะที่จะอยู่ติดตัวต่อไปอย่างยืนยาว
	เอาละสิ งานงอกครับ นอกจากการเรียนประจำสัปดาห์ที่โรงเรียนดนตรีแล้ว จุนเจือยังต้องฝึกเพื่อสอบเกรดเปียโน ซึ่งในการสอบนี้เองที่ทำให้เรารู้ว่าในชีวิตของนักเปียโนจะต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมนอกจากการเล่นเพลงไปเรื่อยๆ มีทั้ง scale แบบต่างๆ ที่จะต้องฝึกไว้ให้คล่องแคล่วด้วยนิ้วที่ถูกต้อง sight reading การฝึกอ่านโน้ตจนสามารถเล่นได้แบบฉับพลัน เห็นโน้ตปุ๊บ ดูโน้ตดูสัญลักษณ์แป๊บ ก็สามารถเล่นได้เลย Aural การตอบคำถามหรือทำตามแบบฝึกหัดจากการฟัง (เป็นภาษาอังกฤษ) เริ่มสงสัยใช่ไหมครับว่า เรื่องแบบนี้จะฝึกเองที่บ้านได้ยังไง
	ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้วผมเคยเล่าถึงวิธีพาลูกซ้อมเปียโนไปแล้วว่า ตอนแรกผมต้องฝึกเล่นก่อนตามแบบฝึกหัดของลูกเพื่อจะได้พาเขาฝึกอย่างถูกต้อง เริ่มตั้งแต่ใช้นิ้วสองนิ้วจิ้มโน้ต ต่อง.. แต่ง.. พอเขาเริ่มวางนิ้วได้เองพ่อก็ต้องมานั่งดูอยู่ข้างๆ คอยช่วยดูว่าโน้ตถูกไหม นิ้วถูกไหม ตำแหน่งถูกหรือเปล่า ท่านั่งเป็นยังไง ท่านั่งที่ไม่เหมาะสมมีผลต่อข้อมือ ข้อมือมีผลต่อกล้ามเนื้อมือ ฯลฯ ไม่ต้องแปลกใจครับ อยากจะบอกว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้  หนังสือจะบอกทุกอย่างไว้อย่างละเอียด บอกตำแหน่งวางนิ้วไว้เป็นระยะๆ แค่เรา.."อ่านและทำความเข้าใจ" เราก็จะพาลูกฝึกและซ้อมได้เองโดยไม่ต้องเป็นนักดนตรี ถ้ามีพื้นฐานหรือมีใจรักดนตรีอยู่บ้างก็จะสามารถอ่านโน้ตได้อย่างไม่ยากเย็นนัก อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ดนตรีมีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ผมแค่ยกเวลาที่จะฝึกปฏิบัติของตัวเองให้ลูกไป ก็เท่านั้นเอง

	ความยากที่สุดของการเรียนเปียโน ไม่ได้อยู่ที่การเล่นให้เป็นเพลง แต่อยู่ที่ ทำยังไงให้สิ่งที่เราเรียนรู้ผ่านมาแล้ว เข้าใจแล้ว ทำได้แล้วนั้นยังอยู่กับเราตลอดไป ผมจะเทียบกับอะไรดีล่ะ อยากให้นึกถึงกาวตราช้าง หรือปูนซีเมนต์ ใช่ๆ การเรียนเปียโนก็คล้ายๆ กับการเทพื้นคอนกรีต ในแง่ของการใช้ระยะเวลาในการเซ็ทตัวกว่าพื้นจะแห้ง สถานะของมันจะเปลี่ยนจากของเหลวกลายเป็นของแข็งและทนอยู่อย่างยืนยาว แตกหักได้ แต่ก็ถือว่าคงสภาพอยู่ยาวนาน ผมกำลังพูดถึงการซ้อมซ้ำแล้วซ้ำอีก ในสิ่งที่รู้สึกว่าความรู้และทักษะนั้นๆ กำลังอยู่ในระยะเซ็ทตัว คือไม่ซ้อมปุ๊บจะถดถอย หรือลืม นักเปียโนเก่งๆ ต่างรู้ดีว่าการฝึกซ้อมนั้นสำคัญขนาดไหน ไม่ซ้อมหนึ่งวัน เราจะรู้ว่าตัวเองถดถอย ไม่ซ้อมสามวันโลกรู้ เพราะมันสะท้อนออกมาผ่านเสียงเพลงนั่นเอง มั่นใจหรือฟลุ๊คเป็นอาการที่ปกปิดไม่ได้เลย 
	ความยากนั้นมีทั้งจากการต้องเอาชนะความขี้เกียจและเบื่อหน่ายที่จะต้องทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าจะผ่านพ้นระยะเซ็ทตัวนี้ไปได้ มีทั้งที่จะต้องทำให้ผู้คนรอบข้างที่เต็มไปด้วยความรักและความต้องการเวลาอยู่ร่วมกันได้เข้าใจถึงวิถีชีวิตของนักเรียนดนตรี คุณยายขี้เหงาที่อยากจะพาหลานสาวไปอวดใครต่อใคร คุณน้าจากแดนไกลที่นานๆ จะได้เจอกันสักที อยากจะมีหลานๆ วิ่งเล่นไปมาอยู่ใกล้ๆ และเข้ามาคลอเคลียเป็นระยะๆ ผมไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ด้วยถ้อยคำอันสั้น ว่าทำไมจึงไม่สามารถปล่อยตามใจได้มากเท่าที่ต้องการ ถือโอกาสนี้อธิบายให้เข้าใจและบันทึกไว้เป็นร่องรอยสำหรับคนอื่นๆ ด้วยครับ
	ผมใช้เวลาเกือบสองปีกว่าลูกจะเริ่มชินกับระเบียบวินัย โฮมสคูลไม่ใช่อิสระเสรี แต่ต้องมีวินัยด้วยตัวเองเพราะเราไม่มีเวลา ไม่มีครูและสังคมส่วนรวมมาคอยควบคุมกดดัน เริ่มชิน ไม่ได้แปลว่าเป๊ะ แค่เริ่มยอมรับว่าเวลาไหนต้องทำอะไร ยังคงต้องคอยปรับเปลี่ยน ปรับปรุงพฤติกรรมอยู่ตลอดเวลา โดยมีอาวุธสำคัญที่พ่อแม่โฮมสคูลจะต้องมีและหมั่นรักษาความคมของมันเอาไว้อย่างดีเสมอ นั่นคือ "ความรักความเข้าใจ" การจะมีอะไรมาแทรก ก็ไม่ควรมากจนกระทบกระเทือนไปทั้งระบบ
	และเมื่อลูกไม่ได้อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายเหมือนในโรงเรียน เขาก็จะพร้อมมากในบางอย่างที่ได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ และบกพร่องในบางอย่างที่ถูกจัดลำดับความสำคัญเอาไว้ทีหลัง หรือรอก่อน ขอส่งเสริมสิ่งสำคัญอันดับแรกให้สุดก่อนเพราะมันเว้นวรรคมากไม่ได้ "ขอเทปูนให้แห้งก่อน" อยากให้นึกถึงระบบปฏิบัติการที่ยังไม่ค่อยเสถียรนัก ใช้ๆ ไป จะเจอปัญหาโน่น นี่ นั่น อยู่เรื่อยๆ การพาลูกหลานที่ความรู้สึกนึกคิดยังไม่เสถียรออกไปนอกบ้านโดยที่เราไม่ได้รู้จักเขาดีพอ อาจสร้างความปั่นป่วนเกินจะควบคุมได้ทุกเมื่อ และผลของมันอาจเลวร้ายกว่าที่เราคิด 

	ทีนี้มาดูกันว่า แค่ซ้อมเปียโน ทำไมต้องใช้เวลามากมาย ผมเปรียบเทียบกับการเทปูนให้รู้ว่าในการเรียนรู้แต่ละอย่างนั้นต้องมีการทบทวนซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าจะผ่านระยะเซ็ทตัว ซึ่งใช้เวลามากกว่าการรอปูนแห้งมากนัก และการเรียนเปียโน มีปูนมากมายแยกกันเป็นกองๆ รอแห้งอยู่เช่น (ในส่วนนี้ อ่านข้ามไปได้เลยนะครับ ผมแค่ใส่เอาไว้ให้นึกภาพออกว่า ทำไมมันถึงต้องใช้เวลานาน)

	Scale  ทุกคีย์ Ab / A / Bb / B / C / Db / D / Eb / E / F / Gb / G
ทั้ง Major / Natural Minor / Harmonic Minor / Melodic Minor
ทั้ง 1 Octave / 2 Octave / เล่นมือเดียว / เล่นสองมือ / เล่นแยกออกจากกัน / Arpeggio แต่ละอัน  ทั้งหมดนี้ค่อยๆ เติมทีละอันๆ และต้องทบทวนไว้ไม่ให้ลืม ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ฟังจากเสียงมันดูเหมือนไม่ยาก แต่พอขยับคีย์นิ้วมันเปลี่ยน จะต้องฝึกให้ถูกต้องทั้งหมด
	เขาค่อยๆ เรียนไปทีละอันไม่ใช่เหรอ จะฝึกทำไมเยอะแยะพร้อมกัน ลองนึกภาพเราให้ลูกเขียนคำว่า "ความ" เขาเขียนได้แล้ว ง่ายๆ เราจะบอกเขาไหมว่า "ควาย" "ควาน" มันแค่เปลี่ยนตัวอักษรแค่ตัวเดียวก็เป็นคำใหม่แล้ว ผมเลือกที่จะบอกเลยครับ จะได้มองภาพรวมและเห็นความแตกต่างได้ง่ายกว่าวางไว้กระจัดกระจาย

	sight reading การฝึกเล่นจากการดูโน้ต หรือฝึกอ่านโน้ตแบบฉับพลัน เฉพาะแบบฝึกที่ใช้ในการสอบ ก็มีเกรดละ 45 แบบ ต้องค่อยๆ ไปทีละอันๆ และเพื่อความชำนาญ ต้องหาโน้ตจากที่อื่นในเกรดเดียวกันมาฝึกอ่าน ไม่ใช่เพื่อสอบ แต่เพื่อให้ทำได้จริงๆ

	Aural อันนี้เป็นการฝึกการฟังและตอบคำถาม ฯลฯ เริ่มจากการทายโน้ต กดเปียโนปุ๊บ ฟังเสียง บอกได้ว่านี่คือเสียงโน้ตอะไร กดตัวเดียว สองตัว สามตัว สูงขึ้น ต่ำลง จนหูเคยชินเวลาได้ยินเสียงเพลงจะรู้เลยว่าเพลงนั้นคีย์อะไร โน้ตอะไร ฯลฯ 

	นี่แค่บางส่วนเท่านั้นครับ สายแบ๊วจะมีคำถามว่า นี่คุณทรมานลูกหรือเปล่า? เด็กตัวแค่นี้ต้องเรียนขนาดนี้เลยหรือ? อย่างที่บอกไปครับ พอผ่านระยะเซ็ทตัวซึ่งถือเป็นการทดสอบกำลังใจอย่างหนักหน่วงไปได้ ที่เหลือก็สบายแล้ว เพราะนี่คือความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักดนตรี เวลาที่ต้องไปเรียนในระดับที่สูงขึ้นไป จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลานับจากศูนย์ใหม่ทั้งหมด  หลายคนคิดว่าสงสารจังคงโดนบังคับน่าดูเลยนะลูก เอ่อ..ผมว่า สงสารผิดคนแล้วละครับ

	ออกจากห้องซ้อมเปียโนมา อ่อนล้าหมดแรงทั้งพ่อทั้งลูก ถึงจุนเจือจะขี้เกียจบ้าง หลบหลีกบ้างอะไรบ้าง แต่ผมก็ยอมรับในความอึดของลูกนะ ความขี้เกียจเป็นธรรมดาของเด็ก ครูสอนเปียโนที่เก่งมากคนหนึ่งบอกไว้ว่า ถ้าอยากให้ลูกเป็นนักเปียโน ผู้ปกครองได้โปรดบังคับลูกของท่านให้ซ้อมเถอะครับ เพราะไม่มีเด็กคนไหนรักมากถึงขั้นวิ่งเข้าหาเปียโน เราต้องพาเขาทำ พาเขาเรียน พาเขาฝึกครับ พอเขาโตขึ้นเขาจะเข้าใจและขอบคุณในความรักความใส่ใจ ความเสียสละและความอดทนของเรา 
	จากแผนภูมิและเวลา หลังออกจากห้องซ้อมเปียโน ก็จะเป็นเวลาที่ค่อนข้างสบายๆ อาจจะปล่อยให้ดูการ์ตูนเพื่อผ่อนคลาย ต้องยอมรับว่าเขาเหนื่อยมาก ผมก็ไม่ได้โหดเหี้ยมอะไร ถ้าเห็นว่าไม่ไหวแล้วผมก็ไม่ได้คาดคั้น แค่มีอะไรก้าวหน้าไปวันละนิดละหน่อย ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วสำหรับวันนั้น ช่วงเวลานี้ก็จะเป็นอะไรที่สนุกสนาน แทรกสาระบ้าง ดูการ์ตูนบ้าง ดูสารคดีบ้าง ฝึกวาดรูปบ้าง บางวันก็ฝึกพิมพ์ดีด ฝึกใช้โปรแกรมกราฟิก วาดรูปด้วยคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

	ตอนเย็น ก็จะถึงเวลาออกกำลังกาย ปั่น eliptical บ้าง sit up บ้าง หมุนเอวบ้าง เต้นเข้าจังหวะ ฯลฯ นี่ก็เหนื่อย เหนื่อยเพื่อต่อสู้กับความอวบอ้วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณความรักความอบอุ่นของคนในครอบครัว เพราะความรักมักมาพร้อมขนมนมเนยและอาหารการกินอันอุดมสมบูรณ์จนเกินเหตุ 

	เวลาค่ำจนถึงดึก คืออีกช่วงเวลาที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง เราใช้เวลานี้ในการส่งเสริมการเรียนรู้หลายๆ อย่าง ทั้งการฝึกอ่าน ฝึกพูด เราถ่ายคลิปอ่านนิทานกันก่อนนอน มีเวลาคุยกันเรื่องโน้นเรื่องนี้ ฝึกสวดมนต์ หรือฟังคลิปธรรมะเพื่อกล่อมเกลาจิตใจ หลังจากที่เราอ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืนตั้งแต่เขายังเล็กๆ ตอนนี้จุนเจืออ่านหนังสือธรรมะให้พ่อกับแม่ฟังก่อนนอนเกือบจะทุกคืน เราบอกเขาว่า การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทานทั้งปวง ยิ่งเป็นการให้ธรรมเป็นทานกับพ่อแม่ด้วยแล้วนับว่าเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่มากๆ เขาขยันใหญ่เลย บางวันพ่อแม่ง่วงจะตายก็ยังต้องเบิ่งตารอรับธรรมทานจากลูกรักของเรา อยากให้เขาได้มีโอกาสทำความดีตอนที่ยังมีเราอยู่ พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก พ่อแม่เป็นเนื้อนาบุญของลูก
	ในบางเรื่อง ในบางแง่มุม เขาอาจจะยังเป็นเหมือนระบบที่ไม่เสถียร แต่เราจะมุ่งมั่นต่อไปเพื่อสร้างลูกของเราให้เป็นคนดีมีทั้งคุณภาพและคุณธรรม ในวันนี้ ลูกของเราอาจจะยังมีอะไรแปลกๆ อาจจะยังทำอะไรไม่ถูกต้องไม่ถูกใจผู้คนรอบข้าง เราก็ต้องขออภัย มันจะไม่เป็นอย่างนั้นตลอดไป เพื่อนและสังคม คือคำถามหลักที่ผู้คนเฝ้าถามไถ่เด็กโฮมสคูลว่าเป็นอย่างไรบ้าง เรารู้ว่านี่คือจุดอ่อน แต่มันจะไม่อ่อนตลอดไป

	ดอกผลแห่งความเหน็ดเหนื่อย
	มาดูเรื่องที่พอจะทำให้หายเหนื่อยกันบ้าง หลายท่านที่เป็นเพื่อนเฟสจะเห็นความเคลื่อนไหวของบ้านเรียนบุญญาภัสเป็นระยะ เห็นพัฒนาการด้านต่างๆ ที่เราทยอยอัพเดทให้ได้ทราบกัน ผมได้รวบรวมลิงค์แปะไว้ตรงนี้เพื่อความสะดวกในการติดตาม

	แอริเดียนทีวี พี่เจือพาเที่ยวเขื่อนดิน https://www.facebook.com/jaideejungnaka/videos/10220811315767233
	แอริเดียนทีวี ทดลองทำคลิป https://www.facebook.com/1068572283/videos/10220756885446509/
	ฝึกทำคลิป พี่เจือพาเที่ยวงานตานก๋วยสลาก https://www.facebook.com/1068572283/videos/10218036399476060/
	อีบุ๊ควางจำหน่ายที่ ookbee.com ก้าบๆ มหานคร https://www.facebook.com/1068572283/videos/10220203616655135
	อีบุ๊ควางจำหน่ายที่ ookbee.com หนูกลัวโควิด https://www.facebook.com/1068572283/videos/10219948753643719
	เพจ พระไตรปิฎกเสียง โดยบ้านเรียนบุญญาภัส https://www.facebook.com/jaideejungnaka/posts/10220344693141959
	ทำคลิปอ่านนิทานก่อนนอน https://www.facebook.com/1068572283/videos/10218928527138694

        ใครสนใจสามารถคลิกเข้าไปเลือกดูในเพจบ้านเรียนบุญญาภัสได้นะครับ https://www.facebook.com/profile.php?id=100063511933030

	ส่วนพัฒนาการด้านการเรียนเปียโน ติดตามได้ที่เพจจุนเจือเปียโนไดอารี่ https://www.facebook.com/profile.php?id=100063499693411

	ตามสัดส่วนเวลาแล้วถือว่า เรียนด้านนี้เป็นหลัก ด้านอื่นจะค่อยๆ ทยอยตามมาครับ ถ้าใครมีลูกหลานเรียนเปียโนน่าจะพอนึกออกว่าพัฒนาการจะประมาณไหน แต่เราเป็นโฮมสคูลมีเวลามากกว่านั้นจึงค่อนข้างจะเห็นความก้าวหน้าได้ชัดเจน เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว จุนเจือสอบ Preptest  ปีนี้ซึ่งก็คือเดือนนี้ จุนเจือกำลังจะสอบเกรด 3 ของสถาบันดนตรี ABRSM โดยเป็นการฝึกเองที่บ้าน ภายใต้การดูแลอยู่ห่างๆ ของคุณครูซึ่งอยู่ไกลถึงเชียงราย และในรอบหน้าจะเป็นการสอบเกรด 5 ซึ่งแน่นอนว่า พ่อได้แอบสอดแทรกแบบฝึกของเกรด 5 ให้ได้มีโอกาสฝึกเตรียมเอาไว้บ้างแล้ว ก็ไม่ได้มีอะไรต้องกังวล นอกจากความเป็นเด็กที่ยังไม่ค่อยโตของเขาเอง
	สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าหายเหนื่อยจริงๆ สำหรับมุมนี้ก็คือ จุนเจือ sight reading ได้เองเกือบจะคล่องแล้ว (ในระดับเกรด 3)  ยอมรับว่าสิ่งที่หนักใจที่สุดในการพาลูกเรียนเองคือเรื่องนี้แหละครับ วางโน้ตปุ๊บ อ่านแป๊บ เล่นได้เลย คือความฝันของพ่อแม่สายดนตรี แต่กว่าจะทำได้มันต้องไปเทปูนจากการฝึกอ่านโน้ตจากบรรทัดห้าเส้นก่อน ท้อแล้วท้ออีก เล่นแฟลชการ์ด เล่นเกมทายโน้ต เขียนชาร์จแผ่นใหญ่ๆ ฯลฯ เพื่อจะพัฒนามาสู่สิ่งนี้ 

	ทั้งหมดนี้ เป็นคำตอบยาวๆ ของคำถามสั้นๆ ว่า อะไร? ทำไม? ต่อผู้คนรอบข้าง ทั้งเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง คุณน้าที่รักที่อาจจะแอบน้อยอกน้อยใจ เอาไว้พอปูนเซ็ทตัวจนแห้งแล้ว ระบบต่างๆ เสถียรดีแล้ว จะให้ติดสอยห้อยตามไปทั่วสากลโลกจนรำคาญกันไปข้างหนึ่งเลยทีเดียว

	สุดท้ายแล้ว เพราะมันยาว ใครอ่านมาถึงตรงนี้ได้ปรบมือให้ตัวเองดังๆ ครับ แสดงว่าคุณอึดและสนใจเรื่องนี้จริงๆ ถ้าคิดจะเริ่มก็เริ่มเลยครับ ชีวิตก็เหมือนการขับรถไปตามทางในคืนเดือนมืดนั่นแหละ เราไม่รู้ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นยังไง แต่ไฟหน้ารถ จะส่องให้เราเห็นทางไปเป็นระยะๆ และในที่สุดเราจะไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย แต่ถ้าเรากลัว เราก็จะกลัวนั่นแหละครับ ด้วยความปรารถนาดีจากบ้านเรียนบุญญาภัส