ช่วงสัปดาห์นี้ผมวุ่นวายอยู่กับการเตรียมเตรียมสถานที่ กั้นห้องทำ "บ้านเรียน" อย่างเป็นกิจลักษณะให้กับจุนเจือ ซึ่งหลายคนก็คงเห็นที่แม่เจี๊ยบอัพเดทสถานะอยู่เป็นระยะแล้ว คาดว่าอีกสองสามวันก็คงเสร็จเรียบร้อยจะได้จัดข้าวของให้เข้าที่เข้าทาง ก็ขอถือโอกาสนี้บอกเล่าความเป็นมาเป็นไปของ "บ้านเรียนบุญญาภัส" เพื่อคลายความสงสัยให้กับญาติมิตรที่เฝ้ามองด้วยความห่วงใย
"บ้านเรียน" คืออะไร?
หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า เด็ก สามารถที่จะเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านโดยไม่ต้องไปโรงเรียนได้ มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายอยู่ในหนังสือ "แนวทางการดำเนินงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว" ของสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เดี๋ยวจะแปะลิงค์ไว้ให้นะครับ
สรุปง่ายๆ บ้านเรียนก็คือ การจัดการศึกษาโดยครอบครัว คือเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน โดยต้องมีแผนการศึกษาที่ชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และได้รับการอนุมัติจากเขตการศึกษา มีการประเมินผลการเรียนประจำปี คล้ายๆ กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนปกตินั่นเอง ผมใช้คำว่าคล้ายเพราะมันไม่เหมือนกันเลยทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่จะทำบ้านเรียนหรือโฮมสคูลก็จะเป็น
- เด็กที่มีความบกพร่อง อาจจะทั้งทางร่างกายและสติปัญญา
- เด็กที่มีความสามารถพิเศษหรือมีความต้องการพิเศษ จุนเจืออยู่ในกลุ่มนี้ครับ
ส่วนแผนการเรียนก็มีทั้งแบบกลุ่มประสบการณ์คือตามความถนัด เรียนรู้ไปตามอัธยาศัยเลย แล้วก็แบบรายวิชาเหมือนในโรงเรียน เอาคร่าวๆ พอนึกภาพออกนะครับ
อะไรทำให้ตัดสินใจทำโฮมสคูล?
เพื่อนๆ น้องๆ ที่รู้จักกันมานานแล้วก็คงจะแปลกใจอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อก่อนนี้ก็จะเห็นว่าเราโพสต์รูปลูกไปโรงเรียน ทำกิจกรรมโน่น นี่ นั่น บอกเล่าพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกกันอย่างมีความสุข ออกจะถี่เกินไปจนกดไลค์กันแทบไม่ทันเลยทีเดียว เหตุผลมีหลายอย่างครับ
ในส่วนของตัวจุนเจือ
เราเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง เรารู้สึกมาตั้งแต่แรกว่าลูกไม่ค่อยเหมือนเด็กคนอื่นๆ คนใกล้ชิดอย่างคุณครู หรือผู้ปกครองของเพื่อนๆ ก็จะเห็นบ่อยๆ ว่าจุนเจือร้องไห้ได้ง่ายมาก บางทีเพื่อนในห้องแกล้งกันก็ทำให้จุนเจือร้องไห้ได้ หลายคนคิดว่าเป็นเพราะภูมิคุ้มกันทางสังคมไม่ดี เราเลี้ยงลูกประคบประหงมเกินไป ไม่ดุ ไม่ด่า ไม่ทำโทษด้วยการตี หรือคนแก่มีลูก รักลูกมากเกินไป ฯลฯ
อย่างที่เคยเล่าไปแล้วว่า ไม่เคยมีวันไหนที่เราจะไม่คุยกันเรื่องการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะแม่เจี๊ยบนั้นได้ชื่อว่าเป็นกูรูกูเกิ้ล จะมีแนวคิดแนวทางใหม่ๆ มานำเสนออยู่เป็นประจำ แต่แนวทางหนึ่งที่เรายึดถือมาโดยตลอดอย่างเหนียวแน่นก็คือการเลี้ยงลูกตามแนวทางของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (ขออนุญาตเอ่ยนามอีกครั้ง) ที่เน้นการเลี้ยงลูกด้วยความรัก อบรมบ่มนิสัยด้วยการอธิบายเหตุผล ด้วยนิทานก่อนนอน โอบกอด มอบความรักตราบที่เขายังต้องการ เน้นสายสัมพันธ์ครอบครัวในระยะยาว ซึ่งคุณหมอรับประกันว่าเราจะเหนื่อยอยู่แค่ไม่กี่ปี หลังจากนั้นสายใยรักในครอบครัวจะดูแลประคับประคองให้เขาก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องคอยเป็นห่วงเรื่องคุณธรรมจริยธรรมอะไรเลย ความรักมันอิ่มอุ่นอยู่ในใจพอๆ กับความเกรี้ยวกราดของพ่อแม่ที่เป็นเหมือนแส้ที่โบยตีหัวใจอ่อนๆ ให้ร้าวลึกเป็นริ้วๆ ติดตรึงอยู่ตราบนานเท่านาน กลายเป็นความห่างเหินและพร้อมจะโบยบินจากไปทันทีเมื่อเขาพร้อม ปะทิโท้..ปานนั้นติละหือ? เหตุนี้ ที่ผ่านมาหลายคนจึงเคยเห็นผมอุ้มลูกสาวที่กำลังร้องไห้ฝ่าฝูงชนผู้ปกครองจากห้องเรียนไปถึงรถด้วยรอยยิ้มที่หนักอึ้งอยู่เป็นประจำ
สองปีที่ผมไปรับไปส่งลูกไปโรงเรียนทุกวัน ซึ่งเขาดูเป็นเด็กใหม่ของห้องอยู่เสมอ ปรับตัวเข้าหาเพื่อนๆ ได้ยาก ขี้เกรงใจ และขี้กลัว กลัวความรุนแรง กลัวเสียงดังๆ กลัวการดุด่า ไม่ชอบที่เพื่อนๆ วิ่งปรู๊ดปร๊าดๆ หรือเล่นเสียงดังโครมคราม แต่ก็ไม่ใช่ไม่อยากมีเพื่อน แค่เพียงมีใครสักคนเดินยิ้มเข้ามาหา หรือยื่นมือมาชวน จุนเจือก็ยิ้มรับและวิ่งไปเล่นกันอย่างมีความสุข แต่ก็นั่นแหละครับ ใหม่ทุกวันก็หาคนเล่นด้วยได้ยาก
ผ่านศูนย์เด็กเล็กมาอย่างทุลักทุเล แต่ก็ไม่มีอะไรมากแค่ร้องไห้บ้าง เราคิดว่าอยู่ในช่วงปรับตัวเดี๋ยวก็คงหายไปเอง จนอนุบาล 1 ก็เรื่อยๆ ร้องไห้บ้างอะไรบ้าง แต่ติดครู เวลาครูไม่อยู่ก็จะออกอาการเคว้งคว้างเหมือนเอาหมาน้อยไปปล่อยป่า พออนุบาล 3 (เขาปรับจาก 2 เป็น 3 ทั่วประเทศ) ขอย้ายห้องตอนเปิดเทอม ได้ยินว่าห้องข้างๆ มีเพื่อนที่ชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน คิดว่าอาจจะเจอเพื่อนที่รู้ใจก็ได้ แต่เอาเข้าจริงๆ เคมีก็ไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่ แถมยังมีดราม่ากลับมาบ้านถี่ขึ้นทุกวัน
วันหนึ่งแม่เจี๊ยบก็ส่งแบบทดสอบอะไรสักอย่างมาให้ลองทำ มันเกี่ยวกับความผิดปกติของลูก เราแยกกันทำด้วยใจเป็นกลาง ตรงไปตรงมาที่สุด และผลของมันออกมาตรงกันว่าลูกของเราจัดอยู่ในกลุ่ม "เด็ก sensitive" ซึ่งเขาสรุปไว้ว่า (เขาคือใครก็จำไมได้ครับ) เด็ก sensitive มักจะเป็นเด็กอัจฉริยะ แต่เด็กอัจฉริยะไม่จำเป็นต้อง sensitive ฟังดูงงๆ แต่ก็ช่างมันเถอะแค่ทำเล่นๆ ขำๆ เราชอบให้ลูกเป็นเด็กธรรมดามากกว่า ถึงเขาจะเริ่มอ่านหนังสือได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษตั้งแต่ก่อนเข้าศูนย์เด็กเล็ก มีคำศัพท์ภาษาอังกฤษอยู่ในหัวของเขามากกว่าพ่อที่สะสมมากว่าสี่สิบปี (ซึ่งเราไม่ได้บอกครู) ก็อาจเป็นเพราะเราอ่านนิทานสองภาษาให้เขาฟังทุกคืนก่อนนอนตั้งแต่ประมาณ 2 ขวบ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังต้องอ่านนิทานก่อนนอน มีไม่เกิน 5 วันที่นอนโดยไม่ได้อ่านนิทาน และเขาชอบฟังเพลงเด็กที่เป็นภาษาอังกฤษ มีการ์ตูนน่ารักๆ มีบทสนทนาแบบง่ายๆ สื่อสารได้เข้าใจ
ผมเคยบอกไว้แล้วว่า ผมไม่เคยเชื่อว่าเด็กที่วิ่งเล่นได้จะเรียนรู้เขียนอ่านไม่ได้ ใครเริ่มก่อนก็อ่านได้ก่อนแค่นั้นเอง เด็กอ่านหนังสือได้ก่อนเข้าโรงเรียนสมัยก่อนถือเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ในสภาวะนั้นที่ผมจำได้คือ เมื่อรู้จักพยัญชนะและสระแล้ว เด็กสามารถสะกดคำได้เองโดยเทียบกับคำใกล้เคียงที่มีคนแนะนำ เช่น ก.-อา กา ข.-อา ขา พอไปเจอ ม.-อา เขาจะรู้เองว่ามันต้องอ่านว่า มา แน่ๆ จ.-อา ก็ จา ส่วนพวกอักษรกลาง ต่ำ สูง ที่ออกเสียงต่างกัน เด็กก็สามารถออกเสียงได้ตามเสียงของพยัญชนะต้น เช่น ก. กับ ถ. ออกเสียงต่างกัน พอใส่สระเข้าไปก็ย่อมออกเสียงต่างกันตามพยัญชนะต้น และเทียบเคียงจากประสบการณ์การฟัง หรือที่ได้ยินผู้ใหญ่คุยกันนั่นเอง สรุปว่า เราก็พยายามใจเย็นปล่อยให้ลูกได้ปรับตัวเข้ากับสังคมต่อไป
แรงบันดาลใจของพ่อแม่
ย้อนกลับไปในค่ำวันหนึ่งก่อนหน้านั้นหลายเดือนแม่เจี๊ยบยื่นมือถือมาให้ดู้ด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น "ดูเด็กคนนี้สิพ่อ เป็นเด็กโฮมสคูล วาดรูปสวยมากเลย มีออเดอร์ของลูกค้าแล้วด้วยอ่ะ เก่งมากๆ เลย" เด็กวาดรูปพ่อก็ชื่นชม แต่ที่สงสัยมากกว่านั้นคือ "โฮมสคูล" มันคืออะไร? ยังไง? ทำไม? เหมือนกับที่หลายๆ คนก็สงสัยอยู่ในตอนนี้นั่นแหละครับ ภายในเวลาไม่นานแม่เจี๊ยบก็มีข้อมูลของเด็กโฮมสคูลมากมาย ซึ่งแต่ละคนล้วนมีจุดเด่น และพัฒนาจุดเด่นนั้นให้เข้มแข็งจนกลายเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวได้ในวัยเด็กนั่นแหละ บางคนวาดรูปเก่ง บางคนทำขนมเก่ง เล่นกีฬาเก่ง เล่นดนตรีเก่ง ฯลฯ และเด็กทุกคนดูมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก อืม...ลูกเราล่ะ? ช่างเถอะอีกครั้ง แนวทางนี้ไม่มีทางได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากคนในครอบครัวเพราะมันดูขัดแย้งกับสิ่งที่เราๆ ได้รับการอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เด็ก "เรียนหนังสือเก่งๆ โตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน" ภาพของเด็กเลี้ยงควายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนหนังสือด้วยตัวเองที่บ้านอย่างยิ่ง
แต่...แนวทางนี้ ทำให้เด็ก...
- ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ และไม่คิดว่าจะได้ใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคตอย่างแน่นอน
- มีเวลาทุ่มเทกับแนวทางที่เลือกและสิ่งที่ตัวเองรักอย่างเต็มที่ ร่นระยะเวลาสำเร็จเคล็ดวิชานั้นๆ เป็นโปรได้แม้อายุยังน้อย
- ลดช่องว่างระหว่างวันในแบบของนักเรียนที่ต้องตื่นตั้งแต่ตีห้านั่งรถตู้ไปโรงเรียน รอกันทุกอย่างเพราะเป็นการจัดการศึกษาสำหรับคนหมู่มาก แค่ครูสั่งว่า "ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า วางเท้าให้เสมอกัน" ก็ต้องใช้เวลาหลายนาทีกว่าจะทำเสร็จและรอรับคำสั่งในขั้นตอนต่อไป ไม่ได้ว่าระบบโรงเรียนไม่ดีนะ แค่ยกตัวอย่างให้เห็นความแตกต่างครับ แต่ก็นั่นแหละ โฮมสคูลก็ไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน
เมื่อเราพาลูกไปเรียนเปียโนได้ระยะหนึ่ง เขามีพัฒนาการที่ค่อนข้างไว จนเราคิดว่านี่ต้องเป็นทางของเขาแล้วละ การเสิร์ชข้อมูลของแม่เจี๊ยบก็หนักหน่วงมากขึ้นอีก ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงเวลาที่ลูกเริ่มโตขึ้น บอกความต้องการของตัวเองได้มากขึ้น ลูกบอกกับเราว่าเขาไม่อยากไปโรงเรียน เขาไม่มีความสุขเลยที่ต้องไปโรงเรียน แนวทางนี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา สำหรับพ่อแล้วขอยอมรับว่าตอนแรกก็สองจิตสองใจ ภาพเด็กเลี้ยงควายมันตามหลอกหลอนพ่ออยู่ตลอดเวลา หมดหน้านาก็หว่านถั่วเขียวต่อละกันนะ แต่สำหรับแม่นั้น ความมุ่งมั่นอยู่ในระดับกำเหรียญบาทเบี้ยวได้เลยทีเดียว
โฮมสคูลของจุนเจือ ไม่ใช่การอยู่บ้านแล้วอยู่เลยตลอดไป เป็นการออกจากโรงเรียนอย่างมีเป้าหมาย ถือว่าเราโชคดีที่ค้นพบความสามารถของลูกได้ไว และเราจะส่งเสริมให้เขาก้าวเดินต่อไปในเส้นทางที่เขารักและเลือกเองอย่างเต็มความสามารถ โฮมสคูลไม่ได้ง่าย ไม่ได้สบายอย่างที่หลายคนคิด พ่อแม่ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจสติปัญญาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ถามว่าเราพร้อมไหม? ไม่มีอะไรยากเกินไปที่จะทำเพื่อลูก
ก่อนจะทำแผนการศึกษาไปนำเสนอให้คนอื่นเข้าใจและสนับสนุน ต้องผ่านด่านคนในครอบครัวที่ยึดมั่นและใฝ่ฝันในระบบมาช้านานให้ได้ก่อนจึงเป็นเหตุให้เราต้องพาลูกไปหาหมอเพื่อวัดไอคิวเหมือนที่คุณครูหลายคนเคยแนะนำ ถึงที่บ้านจะไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยเรื่องโฮมสคูล แต่ก็พอได้ยินเกี่ยวกับเด็กไอคิวสูงว่าเรียนร่วมกับเพื่อนๆ วัยเดียวกันไม่ค่อยได้ ต้องแยกมาเรียนต่างหากเพื่อจะได้ทันต่อความต้องการจะเรียนรู้ของเขา กะเอาหมอมาช่วยยืนยันเพราะมันดูมีน้ำหนักมากกว่าพ่อกับแม่พูดเอง ซึ่งคุณหมอลงความเห็นว่า จุนเจือจัดอยู่ในกลุ่ม gifted ปัญญาเลิศความสามารถพิเศษ โอเค..ผ่านในระดับครอบครัวแล้ว
และพอเราทำแผนการจัดการศึกษาไปเสนอเขต ทางเขตก็ยินดีส่งเสริมสนับสนุนในแนวทางนี้ จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงอะไรหลายๆ อย่างในบ้าน สร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ทำห้องใหม่ จัดหนังสือ จัดของเล่น ฯลฯ
เหตุผลสนับสนุนอื่นๆ
อันนี้ขอรวมไปกับคำถามยอดฮิต เพราะเหตุผลบางอย่างมันก็อยู่ในคำตอบง่ายๆ นั่นแหละครับ
1. ลูกจะมีสังคมหรือ?
ต้องทำความเข้าใจกับคำว่า "การจัดการศึกษาโดยครอบครัว" ให้ตรงกันก่อนครับ การเอาลูกออกมาจากระบบโรงเรียน ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เรียนหนังสือ เราอาจจัดการศึกษาโดยผู้สอนคือพ่อแม่ (ถ้าพ่อแม่มีความสามารถพอจะสอนเองได้) หรือจัดหาครูสอนพิเศษ หาที่เรียนพิเศษในกรณีเป็นวิชาเฉพาะเช่น คณิตศาสตร์ขั้นสูงๆ หน่อยๆ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่นฯลฯ และในกิจกรรมเหล่านี้ที่ต้องพบปะผู้คนมากมายก็เป็นการเรียนรู้การเข้าสังคมไปพร้อมกัน หรือแม้แต่การไปเที่ยวสวนสนุกก็มีการเล่นกับเพื่อนใหม่ๆ ไม่เว้นแต่ละวัน หรือเพื่อนๆ มาเล่นด้วยที่บ้าน ได้แบ่งปันของเล่น แบ่งกันอ่านหนังสือนิทาน แบ่งขนมกินกัน นั่นก็ได้ฝึกทั้งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเสียสละและความมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์
เรากลัวลูกมีสังคมที่น่ากลัวมากกว่ากลัวลูกไม่มีสังคมในขณะที่ตัวเขาเองยังไม่แข็งแกร่งพอ โลกเปลี่ยนไปแล้ว ทุกวันนี้เด็ก ป.4 สามารถข่มขืนเด็ก ป.1 ในห้องน้ำโรงเรียนได้ เด็ก ป.4 เดินไปซื้อของก็สามารถโดนฉุดไปรุมโทรมได้ นั่งรถตู้ไปโรงเรียนซึ่งเราคิดว่ามีเพื่อนร่วมทางมากมายก็ยังโดนคนขับรถลวนลามได้ อยู่ในรั้วโรงเรียนก็ยังโดนรีดไถ โดนทำร้ายร่างกาย โดนเพื่อนแกล้งจนเด็กโดดตึกตายก็มีให้เห็น หรือแม้แต่การมีแฟนในวัยเด็ก เดี๋ยวนี้เด็ก ป.4 ก็มีแฟนแล้ว และ "แฟน" ในสมัยนี้ไม่เหมือนเมื่อตอนที่เรายังเป็นวัยรุ่น เราไม่อาจปกป้องลูกได้ตลอดเพราะสักวันหนึ่งเราก็ต้องตายจากเขาไป แต่ ถ้ามันจะช่วยลดความเสี่ยงกับเรื่องเหล่านี้ในช่วงที่เขายังเด็กมาก รอจนเขาเติบโตพอที่จะรับผิดชอบชีวิตตัวเองได้แล้วจะออกไปผจญภัยในโลกกว้าง มันก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
2. ถ้าวันหนึ่งลูกอยากไปโรงเรียนจะทำยังไง?
การทำโฮมสคูล จะมีการทำแผนการศึกษาอย่างชัดเจน อนุมัติโดยเขตการศึกษา ร่วมกันประเมินผลการศึกษาเป็นระดับชั้นโดยเขตการศึกษาและครอบครัว ดังนั้น ถ้าวันหนึ่งลูกเกิดเบื่อบ้านหรืออยากจะเข้าไปเรียนในระบบโรงเรียน ก็สามารถเทียบชั้นเข้าไปเรียนในระบบโรงเรียนได้ตามปกติ แล้วจะเรียนทันเพื่อนรุ่นเดียวกันหรือเปล่า? ด้วยเหตุนี้บางครอบครัวจึงจัดการศึกษาแบบยึดแกนกลางเหมือนในระบบโรงเรียนเลย หรืออาจจัดการศึกษาแบบบูรณาการ ร่วมกับวิชาที่ลูกสนใจเป็นพิเศษ กรณีของจุนเจือก็เลือกแบบบูรณาการ 8 กลุ่มสาระ ให้น้ำหนักไปที่การเรียนดนตรี (เปียโน) เป็นหลัก
แล้ววิชาอื่นๆ ล่ะ จะอ่อนกว่าเพื่อนหรือเปล่า? ผมกลับคิดว่าการอยากรู้อะไรแล้วมีเวลาหาคำตอบได้ทันทีกลับจะเป็นผลดีมากกว่า เช่น "พ่อขา หนูอยากรู้เรื่องจักรวาลและดวงดาวค่ะ" พ่อสามารถเปิดสารคดีจักรวาลและดวงดาวให้ลูกศึกษาได้ทันที "พ่อขา แวนโก๊ะคือใครคะ?" จัดไปลูก "แอฟริกาอยู่ตรงไหนของโลกคะ?" ได้เลยลูก "พ่อขาอยากวาดรูป แม่ขาอยากเล่นท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ ยายขาอยากฝึกทำอาหาร" ฯลฯ อะไรที่พ่อแม่สอนได้ก็สอนเอง อะไรที่ต้องหาคนมาสอนแทนก็จัดการได้ทันตามความต้องการของผู้เรียน จึงไม่น่าห่วงเรื่องเรียนไม่ทันเพื่อนครับ
3. ขีดเส้นให้ลูกเกินไปหรือเปล่า ถ้าโตขึ้นลูกอยากจะไปทางอื่นล่ะ? วางแผนอนาคตไว้ยังไง?
แผนการจัดการศึกษานั้น จะแบ่งเป็นแต่ละช่วงชั้น ก้าวไปทีละขั้น รอยต่อของแต่ละขั้นจะมีทางแยกและเลือกได้ว่าจะไปต่อในเส้นทางเดิม หรือเลือกเส้นทางใหม่ แน่นอนว่า "ลูก" จะเป็นคนเลือกเองโดยมีพ่อแม่คอยให้คำแนะนำ ก่อนที่เราจะตัดสินใจทำโฮมสคูลเราได้ศึกษาและคิดอย่างรอบคอบรวมทั้งมองทางสำรองเอาไว้แล้ว
คนทุกคนล้วนมีแนวทางของตัวเอง อยู่ที่ว่าจะค้นพบได้เร็วหรือช้า เมื่อเราค้นพบตัวตนของลูกแล้วเราจะรีบส่งเสริมเขาให้เดินไปถึงปลายทางให้เร็วที่สุดในขณะที่เรายังสุขภาพแข็งแรงดีอยู่ ถ้าทุกคนศรัทธาในความรักและความห่วงใยของพ่อแม่ เราก็เช่นกัน ถ้ามันมีช่องทางที่จะทำให้เขามีความเชี่ยวชาญในวิชาความรู้ถึงขั้นใช้เป็นเครื่องมือทำมาหาเลี้ยงชีพได้ เราจะใช้ช่องทางนั้น ซึ่งเรามั่นใจว่า คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้
ขอบคุณทุกกำลังใจ และทุกความห่วงใย ในโอกาสนี้ครับ